สัมมนาวิชาการภาคใต้ ปี 2565

11 กรกฎาคม 2565 ใช้เวลาอ่าน 999 นาที

สรุปช่วงสนทนากับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

หัวข้อ "ชีพจรเศรษฐกิจการเงินภาคใต้และความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม"

 

มุมมองภาพเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจภาคใต้ และมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 

ประเทศไทยได้รับผลจากสถานการณ์ COVID-19 รุนแรงกว่าและฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยคาดว่า GDP จะกลับไปเท่ากับช่วงก่อน COVID-19 ในไตรมาสแรกของปี 2566 และเมื่อพิจารณาเฉพาะภาคใต้ จะเห็นว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าประเทศ เนื่องจากภาคใต้พึ่งพาการท่องเที่ยวซึ่งเป็นจุดเปราะบางที่ได้รับผลกระทบในสัดส่วนสูงกว่าประเทศ ส่วนภาคการผลิต แม้จะฟื้นตัวได้เร็วแต่สัดส่วนของภาคการผลิตต่อ GRP ไม่สูงเท่ากับของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจภาคใต้ในปี 2563 หดตัว 12% หดตัวสูงกว่าประเทศถึง 2 เท่า 

การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ของ ธปท. ในช่วงแรกจะเป็นมาตรการแบบปูพรม อาทิ มาตรการพักหนี้ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป จำเป็นต้องปรับมาตรการเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดมากขึ้น เพื่อไม่ให้ระบบการเงินซ้ำเติมปัญหา โดยการผ่อนปรนเกณฑ์ต่าง ๆ ขยายการให้สินเชื่อไปยังจุดที่สินเชื่อไปไม่ถึง เป็นที่มาของการออก soft loan และสินเชื่อฟื้นฟู ซึ่งเติมเงินเข้าไปในระบบแล้วกว่า 3.2 แสนล้านบาท สำหรับภาคใต้ได้อานิสงส์จากมาตรการดังกล่าว ทั้ง (1) สินเชื่อฟื้นฟูที่สามารถปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการในภาคใต้ประมาณ 14% สูงกว่าสัดส่วน GRP ซึ่งอยู่ที่ 8% (2) โครงการพักทรัพย์พักหนี้ ซึ่งที่มาของมาตรการนี้ส่วนหนึ่งได้มาจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการ ทำให้สามารถออกแบบมาตรการที่ตอบโจทย์ โดยมูลค่าโครงการอยู่ในภาคใต้สัดส่วนสูงกว่า 30% ของมูลค่ารวมทั้งประเทศ  

ปัจจุบัน เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง เมื่อประกอบกับรายได้ครัวเรือนที่ปรับดีขึ้น และรายได้ครัวเรือนเกษตรที่ยังเติบโต ทำให้ประมาณการ GDP ปี 2565 และ 2566 โต 3.3% และ 4.2% ตามลำดับ ซึ่งภาพรวมของภาคใต้ก็ไม่ต่างจากภาพของประเทศ เพราะ 60% ของแรงงานในภาคใต้อยู่ในภาคเกษตรและภาคท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปัจจัยที่ไม่คาดคิดที่อาจกระทบต่อการเดินทางของคน ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และโจทย์ใหญ่เรื่องเงินเฟ้อ 

การดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน

ในปัจจุบัน ภาวะเงินเฟ้อเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ รวมถึงภาคใต้ที่มีสัดส่วนครัวเรือนเปราะบางสูง จึงเป็นหน้าที่สำคัญของธนาคารกลางที่ต้องดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่อยู่ในช่วง 1-3% ซึ่งถือเป็นกรอบที่มีความยืดหยุ่น และเหมาะสมภายใต้บริบททางเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดยที่มาของเงินเฟ้อ มีทั้งจาก (1) ผลของราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานในช่วงสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ซึ่งอาจมีข้อจำกัดในการแก้ปัญหา และ (2) ผลของการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชน ที่ต้องควบคุมไม่ให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด และยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย เพื่อไม่ให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะการคาดการณ์ของสาธารณชนว่าเงินเฟ้อจะสูงต่อเนื่อง จึงขอขึ้นค่าแรง นำไปสู่การขึ้นราคาสินค้าเป็นวงจรไปเรื่อย ๆ (Wage-price spiral) 

 

การยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะปานกลาง คือ สร้างความไว้ใจ ความเชื่อของประชาชนว่า ธปท. จะดูแลเรื่องเงินเฟ้อ และขึ้นดอกเบี้ยตามความจำเป็น จาก commitment ของ ธปท. ในการดูแลเงินเฟ้อ นอกจากนี้ บริบททางเศรษฐกิจของไทยที่อยู่ในช่วงฟื้นตัว แตกต่างจากประเทศพัฒนาอื่น ๆ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ที่อุปสงค์โตเร็วและตลาดแรงงานร้อนแรง ทำให้ในกรณีของประเทศไทยอาจไม่จำเป็นที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงและเร็วเพื่อเหยียบเบรก และเพื่อให้การฟื้นตัวเป็นไปต่อเนื่อง (smooth takeoff) ธปท. จึงต้องถอนคันเร่งอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยปรับทั้งนโยบายการเงินและมาตรการทางการเงินให้กลับสู่ภาวะปกติ (normalization) ขณะเดียวกันยังมีความยืดหยุ่น เพื่อแก้ไขปัญหากลุ่มเปราะบางควบคู่กันไป ตัวอย่างเช่น มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู โครงการพักทรัพย์พักหนี้ ที่อย่างน้อยจะอยู่ถึง เม.ย. 2566 และพร้อมต่อมาตรการหากมีความจำเป็น รวมถึงมาตรการ 3 ก.ย. แก้หนี้อย่างยั่งยืนที่จะอยู่ถึงสิ้นปีหน้า เป็นต้น

ในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ทั้งในช่วงที่ผ่านมาและระยะต่อไป ธปท. ให้ความสำคัญกับการจัดการเพื่อให้มาตรการที่มีเพียงพอถูกใช้อย่างเต็มที่ (execution) มีการทำงานใกล้ชิดกับธนาคารพาณิชย์เพื่อกำหนดเป้าของการปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูเป็นระยะ โดยมุ่งหวังให้มาตรการสามารถรองรับกลุ่มที่มีปัญหาให้ได้มากที่สุด

ด้านนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนและการส่งเสริมการทำ hedging ของผู้ประกอบการ จากสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 7 ปี ซึ่งเป็นผลของการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. เป็นหลัก เป็นไปตามกลไกตลาดที่เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อดอลลาร์แข็งค่า การที่ ธปท. จะเข้าไปควบคุมหรือกำหนดทิศทางของค่าเงินมีข้อจำกัดและทำได้เพียงในระดับหนึ่งเพื่อไม่ให้การเคลื่อนไหวเร็วเกินไป เพราะจะกระทบต่อ            ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกที่ยังทำ hedging ต่ำ โดยเฉพาะผู้ส่งออกรายเล็ก ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการทำ hedging ได้สะดวกขึ้น ธปท. ได้ลดเงื่อนไข ปรับกรอบของกฎระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งอยู่ระหว่างปรับ service provider landscape เพื่อให้การให้บริการด้าน hedging กว้างขวางขึ้น เข้าถึงมากขึ้น ในต้นทุนที่หวังว่าถูกลงกว่าเดิม เหมาะสมกับบริบทที่อัตราแลกเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ

การมองภาพไปข้างหน้า

มองภาพไประยะข้างหน้า กระแสสำคัญที่จะเข้ามากระทบกับเศรษฐกิจไทย คือ กระแส “ดิจิทัล” และ “Green” ซึ่งต้องมีการปรับตัวให้ทันกับกระแสดังกล่าว ในด้าน “ดิจิทัล” นอกจากการใช้งานที่กลายเป็นปกติ เช่น mobile payment, QR code, e-commerce เป็นต้น Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่โปร่งใส (transparent) และมีความน่าสนใจ ธุรกิจสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มาก เช่น traceability ในภาคเกษตร ขณะที่กระแส “Green” อาจไม่ได้มีเพียงเรื่องของสภาพแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีผลของนโยบายที่เกี่ยวข้อง เช่น นโยบาย CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ของกลุ่มประเทศยุโรป เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยปรับตัวได้ค่อนข้างเร็ว เห็นได้จากจำนวนบริษัทที่อยู่ใน DJSI (Dow Jones Sustainability Index) สูงสุดในอาเซียน ขณะที่บริษัทเล็ก ธุรกิจ SMEs แม้ตื่นตัว แต่อาจปรับตัวได้ยาก

“จะปรับกระบวนทัพสำหรับของใหม่ไม่ได้
ถ้าเราไม่เข้าใจว่าที่ผ่านมา ทำไมของในอดีตปรับตัวไม่ได้....
คำตอบต้องมาจากภาค คำตอบจะไม่มาจากส่วนกลาง
หรือถ้าคำตอบมาจากส่วนกลางคงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง”

 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

Upcoming Monetary Policy Committee’s Decision : 24 August 2021

เมื่อมองย้อนกลับไป 10 ปี การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจของภาคใต้มีไม่มาก เห็นเพียงการเข้ามาของภาคบริการ โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่โตในแง่ปริมาณจำนวนนักท่องเที่ยว และในภาคเกษตรซึ่งมีสัดส่วนแรงงานสูงถึง 40% มีเพียงยางพาราและปาล์มน้ำมันเป็นสินค้าหลัก ยังมีมูลค่าเพิ่มและ productivity เพิ่มขึ้นไม่มาก ทำให้เห็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้ากว่าประเทศ แต่ในด้านพื้นฐาน ภาคใต้มีจุดแข็ง ทั้งด้านการศึกษา มีแรงงานจบปริญญาตรีสูงกว่าภูมิภาคอื่น และมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรต้นน้ำและสภาพอากาศที่เจอภัยแล้งน้อย คำถามสำคัญคือ ที่ผ่านมาทำไมภาคใต้จึงยังไม่สามารถปรับกระบวนทัพ ปรับโครงสร้างได้มากเท่าที่ควร คำตอบจากส่วนกลางคงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง แต่คำตอบต้องมาจากคนในภาค มาจากการรวมตัวกันของหลายภาคส่วนในภาค โดย ธปท. ยินดีที่จะเป็นหนึ่งภาคส่วนที่จะสนับสนุน ร่วมคิดวิเคราะห์ ร่วมทำ ร่วมถก หาวิถีที่ภาคใต้จะไปในอนาคต