สัมมนาวิชาการภาคใต้ ปี 2565
11 กรกฎาคม 2565 ใช้เวลาอ่าน 999 นาที
สรุปช่วงเสวนา
หัวข้อ "ก้าวใหม่ธุรกิจภาคใต้...ปรับตัวอย่างไรให้ยั่งยืน"
กระแสโลกทั้ง “ดิจิทัล” และ “ความยั่งยืน” ทำให้ภาคใต้ที่แม้จะมีทรัพยากรพื้นฐานที่พร้อมในหลายด้านทั้งทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมก็ต้องเตรียมรับมือและปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างโอกาสเติบโต ทั้งนี้ เมื่อมองธุรกิจภาคใต้ในปัจจุบันพบว่าเริ่มเห็นการปรับตัวไปแล้วบ้าง สอดคล้องกับภาพอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ได้ศึกษาไว้ อย่างไรก็ตาม การปรับตัวยังจำกัดเพียงบางกลุ่มจึงอาจจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน
การปรับตัวในภาคเกษตร การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ถือเป็นโอกาสของภาคเกษตรที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เนื่องจากแรงงานในภาคเกษตรสูงวัยมากขึ้น ขณะที่คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในภาคเกษตรลดลง ในปัจจุบันเริ่มเห็นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแล้ว แต่ยังจำกัดอยู่ในฟาร์มขนาดใหญ่ และการที่ภาคใต้มีข้อได้เปรียบด้านวัตถุดิบอาหารทะเลซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่ผู้บริโภคในกลุ่มเอเชียนิยมมากขึ้น หากสามารถคว้าโอกาสจากการเป็นแหล่งผลิตโปรตีนจากอาหารทะเลได้จะยิ่งสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรที่มีอยู่ได้มากขึ้น นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ควบคุมสภาวะการเพาะเลี้ยงเห็ดแครงในสวนยางพาราจากที่ปกติจะขึ้นแซมในสวนยางเองตามธรรมชาติ และพัฒนาต่อยอดเป็นโปรตีนทางเลือก (Plant-based) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกระแสด้าน Future Food ที่มาแรง
สำหรับภาคอุตสาหกรรม นอกจากการปรับตัวโดยสร้างมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมอาหารซึ่งเป็นจุดแข็งของภาคใต้แล้ว อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรดั้งเดิม อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สามารถปรับตัวเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและอยู่รอดได้ด้วยการนำหลัก 3E มาประยุกต์ใช้ ได้แก่ (1) Efficiency การเพิ่มประสิทธิภาพโดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรม เข้ามาช่วยในการทำงาน อาทิ การใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการควบคุมการทำงานเพื่อลดของเสีย ความผิดพลาดจาก human error และเพื่อให้มีข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอในการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว (2) Effectiveness การมีประสิทธิผลด้านต้นทุน (lean cost) ลดการทำงานซ้ำซ้อน ลดต้นทุนในการทำงาน เช่น service sharing การใช้ระบบซ่อมบำรุงกลาง/spare part กลาง และ (3) Experience การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง รวมถึงการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ข้างนอกในแต่ละด้านมาช่วยวางระบบ นอกจากนี้ เพื่อรับกระแสความยั่งยืน ในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันได้นำโมเดล BCG (Bio-Circular-Green) มาใช้ โดยนำกากของเสีย น้ำเสีย ทะลายปาล์มเปล่ามาเข้ากระบวนการผลิตเป็นพลังงานชีวภาพ (Biogas) และพลังงานชีวมวล (Biomass) เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงาน
“หนึ่งใน Core value ของการดำเนินธุรกิจ คือ Circular
ซึ่งเกิดจากการนำวัตถุดิบหรือวัสดุต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ตลอดจนนำของเหลือทิ้งของเหลือใช้มาสร้างมูลค่าเพิ่ม
เพื่อให้ลดต้นทุน สร้างศักยภาพการแข่งขัน”
คุณพงศ์นเรศ วนสุวรรณกุล กรรมการกลุ่มบริษัท ท่าฉางอุตสาหกรรมและนายกสมาคมน้ำยางข้นไทย
ในส่วนของภาคบริการ หลาย ๆ ธุรกิจได้มีการปรับตัวอย่างชัดเจนในช่วงสถานการณ์โควิด มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจ ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเพื่อรองรับกับความต้องการของผู้รับบริการมากขึ้น อาทิ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการ Work from anywhere การประสานระหว่างการท่องเที่ยวและการบริการด้านสุขภาพที่ต่อยอดไปเป็น Wellness Tourism
"ภาคใต้มีข้อได้เปรียบเรื่องพหุวัฒนธรรม
ที่สามารถนำมาเป็น Creative Tourism
ซึ่งต้องมีการออกแบบและร้อยเรียงเรื่องราวให้เหมาะสมกับชุมชนนั้น ๆ"
คุณกรกฎ เตติรานนท์ กรรมการหอการค้าไทยและประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช
นอกจากนี้ ภาคใต้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นทุนเดิม จึงไม่ยากที่จะต่อยอดธุรกิจให้มีความยั่งยืน ผ่านการเพิ่มมูลค่าการบริการโดยการสร้าง Experience และ Creative Tourism ที่ต้องมีการออกแบบและร้อยเรียงเรื่องราวให้เหมาะสมกับชุมชนนั้น ๆ ซึ่งหากทำได้ ท้ายที่สุดแล้วรายได้จะลงสู่ชุมชนโดยตรง และสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้
การสนับสนุนและความร่วมมือจากหลายภาคส่วนจะมีส่วนช่วยในการปรับตัว โดยเฉพาะเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย ที่มีความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีน้อยเนื่องจากต้นทุนของเทคโนโลยีที่สูง ปัจจุบันมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีในประเทศจากภาครัฐที่ร่วมมือกับ สวทช. ที่ได้พัฒนาระบบ Thailand Technology Rating System (TTRS) เพื่อใช้ในการวัดผลการดำเนินการของธุรกิจ โดยวิธีการ scoring และ benchmark เพื่อใช้เปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยสามารถนำผล scoring นี้ไปใช้ในการวัดผลการดำเนินงาน และการจัดหาเงินทุนได้ นอกจากนี้ ยังพัฒนาการกระจายโครงสร้างพื้นฐาน โดยเริ่มทำ Future Food Lab กับ Food Mega Space ซึ่งในภาคใต้ตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลา เพื่อเป็นช่องทางให้กลุ่มธุรกิจ รวมถึง Start-up ที่มีไอเดียใหม่ ๆ ได้เข้ามาทดลองและพัฒนาคิดค้นสินค้า
ธุรกิจจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนต้องคำนึงถึงชุมชนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นและการเชื่อมต่อของโลกด้วย Supply Chain ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การปรับตัวเพื่อสอดรับกระแสที่เปลี่ยนไปจึงไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว และต้องให้ความสำคัญกับการผลิตที่มีมาตรฐาน อาทิ มาตรฐาน FSC (Forest Stewardship Council) ของอุตสาหกรรมยางพาราที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ
"ผู้บริโภครุ่นใหม่ ให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อสังคม
(responsible consumer)
ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงต้องสร้าง business model ใหม่
หาสมดุลระหว่าง Planet, People และ Profit"
ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รักษาการผู้่ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เพราะฉะนั้น การทำธุรกิจแบบเดิม ๆ อาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป จึงจำเป็นต้องปรับ Business Model ใหม่ เพื่อหาสมดุลระหว่าง 3P คือ Planet (กระแสรักโลก), People (ผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป) และ Profit (กำไรในการทำธุรกิจ) ท้ายสุดแล้ว การทำธุรกิจรูปแบบใหม่จำเป็นต้องมององค์รวมมากขึ้น และใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม เพราะแม้มีต้นทุน แต่ผลตอบแทนที่ได้กลับมาคือการเติบโตอย่างยั่งยืน