แนวโน้มเศรษฐกิจใต้ ปี 66-67 ในมุมมอง ธปท.

สรุปช่วงนำเสนอผลงานศึกษา

 

หัวข้อ “แนวโน้มเศรษฐกิจใต้ ปี 66-67 ในมุมมอง ธปท.”

 

โดย ดร. โสภี สงวนดีกุล
ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

 

 

ในอดีตที่ผ่านมา มีหลายช่วงที่การเติบโตของเศรษฐกิจภาคใต้แตกต่างไปจากเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ จากโครงสร้างเศรษฐกิจภาคใต้ที่พึ่งพาภาคเกษตรและการท่องเที่ยวมากกว่าประเทศ ทำให้การใช้ข้อมูลประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) อาจไม่สามารถสะท้อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคใต้ได้ และยังไม่ตอบโจทย์การใช้งานของพื้นที่มากนัก นอกจากนี้ ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดเผยแพร่ข้อมูลประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาค (Gross Regional Product: GRP) ในลักษณะที่ทันการณ์ และเป็นระยะยาว

 

ธปท. สำนักงานภาคใต้ จึงเล็งเห็นความสำคัญในการศึกษาและจัดทำประมาณการ GRP 2 ปีข้างหน้า เพื่อตอบโจทย์พื้นที่ให้มีข้อมูลที่ทันการณ์ มองไปข้างหน้า และสามารถนำไปใช้วางแผนธุรกิจต่อไปได้ โดยตัวเลขประมาณการได้มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติร่วมกับแบบจำลองทางเศรษฐมิติ รวมทั้งประเมินภาพจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจกับหลายภาคส่วน

nro-talk

ผลประมาณการเศรษฐกิจภาคใต้ปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 6.2 – 7.2 และจะกลับมาเท่ากับระดับก่อนโควิด ในปี 2567 โดยขยายตัวร้อยละ 4.6 – 5.6 จากแรงขับเคลื่อนในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลดีต่อเนื่องไปยังภาคการค้าและการก่อสร้างภาคเอกชน นอกจากนี้ ภาคเกษตรจะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญจากผลผลิตเกษตรที่มีแนวโน้มขยายตัวดี แม้จะมีแนวโน้มชะลอลงในปี 2567 จากความเสี่ยงภัยแล้ง รายละเอียดแต่ละสาขาเศรษฐกิจ ดังนี้

 

1) การท่องเที่ยว ปี 2566 - 2567 ขยายตัว จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและชาวไทย โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติหลักที่เข้ามา คือ มาเลเซีย ยุโรป รัสเซีย และอินเดีย ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนทยอยฟื้นตัว แต่ช้ากว่าสัญชาติอื่น สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตามการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่ลดลงจากก่อนโควิด เนื่องจากเป็นการท่องเที่ยวแบบไม่ค้างคืนและส่วนใหญ่มีกำลังซื้อลดลง

 

2) การค้า ปี 2566 - 2567 ขยายตัว จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคบริการท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ส่งผลดีต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน ซึ่งช่วยสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอย อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรที่โน้มลดลงจากราคาในปีนี้ จะกดดันกำลังซื้อของครัวเรือนเกษตรบ้าง

 

3) การก่อสร้าง ปี 2566 ทรงตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากจำนวนบ้านเหลือขายลดลงหลังจากชะลอการลงทุนในช่วงโควิด ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าหดตัวจากความล่าช้าของ พรบ. งบประมาณ อย่างไรก็ดี ปี 2567 คาดว่าการก่อสร้างกลับมาขยายตัว ตามการลงทุนภาครัฐที่กลับมาทำได้ตามปกติ

 

4) การเกษตร ปี 2566 ผลผลิตเกษตรขยายตัว จากผลผลิตทุเรียนที่เพิ่มขึ้นตามพื้นที่ให้ผลที่เพิ่มขึ้น และผลผลิตยางพาราที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่มากในปีก่อน ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปี 2567 คาดว่าผลผลิตจะชะลอลงจากผลกระทบภัยแล้ง โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน

 

5) การผลิตอุตสาหกรรม ปี 2566 หดตัว จากอุปสงค์โลกที่ชะลอลง ประกอบกับปริมาณสินค้าคงคลัง ทั้งยางพาราและถุงมือยางยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ความต้องการสินค้าจากภาคใต้ลดลง สำหรับปี 2567 คาดว่าการผลิตจะปรับดีขึ้นเล็กน้อย ส่วนหนึ่งจากระดับสินค้าคงคลังของคู่ค้าที่ลดลง

 

เศรษฐกิจใต้ที่มีแนวโน้มขยายตัวในปี 2566 – 2567 คาดว่าการกระจายผลประโยชน์จะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามันและสงขลาจะได้อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวชัดเจน นอกจากนี้ จากจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่นิยมขับรถยนต์ส่วนตัวเข้ามาเองและกระจายตัวไปได้หลายพื้นที่มากขึ้น จะเป็นโอกาสของกลุ่มจังหวัดเมืองรอง อาทิ ยะลา ตรัง พัทลุง สตูล ในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในอนาคต จากเดิมที่พึ่งพารายได้จากพืชเกษตรโดยเฉพาะยางพาราเป็นหลัก ขณะที่ จ.ชุมพร และ จ.นครศรีธรรมราช จะได้ประโยชน์จากผลผลิตทุเรียนที่เพิ่มขึ้นและราคาที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเมื่อพิจารณารายได้สุทธิของครัวเรือนโดยรวมในภาคใต้ 2 ปีนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5% ​อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนเกษตรกว่า 1 ล้านครัวเรือนหรือเกือบครึ่งของครัวเรือนภาคใต้ จะมีรายได้สุทธิลดลงในปี 2566 และกลับมาดีขึ้นในปี 2567 ตามราคาสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ

 

นอกจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ธปท. สำนักงานภาคใต้ ยังมีการศึกษาและพัฒนาเครื่องชี้เพื่อติดตามความเป็นอยู่ของคนใต้ในมิติอื่นๆ ด้วย โดยความเป็นอยู่ของคนใต้ ปี 2564-2565 ปรับดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ค่อนข้างน้อย และด้านโครงสร้างพื้นฐานปรับดีขึ้น โดยเฉพาะการเข้าถึง Internet สำหรับด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สาธารณสุข และการศึกษา ยังคงใกล้เคียงเดิม อย่างไรก็ตาม จากวิกฤติโควิดที่ผ่านมา ทำให้รายได้และการจ้างงานของคนใต้ลดลงและยังต่ำกว่าก่อนโควิด หากเทียบกับภาพประเทศ ภาคใต้ยังต้องพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และการสร้างรายได้ให้มากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนใต้ในระยะต่อไป

 

ธปท. สำนักงานภาคใต้ ให้ความสำคัญกับการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคใต้กับทุกภาคส่วน โดยบทบาทในระยะสั้นที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง คือ การจับชีพจรและประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจใต้ ตลอดจนการพัฒนาข้อมูลและเครื่องชี้ใหม่ๆ ตลอดจนการสื่อสารและผลักดันนโยบายของ ธปท. ให้เกิดผลในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ในระยะยาว ผ่านการศึกษาเชิงลึกในประเด็นสำคัญ และร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการเงินและความเป็นอยู่ที่ดีของคนใต้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน