​​​​"ดอกเบี้ยเงินกู้เป็นผลตอบแทนที่ผู้ให้กู้เรียกเก็บจากผู้ขอกู้"

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้

 

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้มักอยู่ในลักษณะร้อยละต่อปี ซึ่งผู้ให้กู้ เช่น ธนาคาร หรือบริษัทเรียบเก็บจากผู้กู้เพื่อเป็นผลตอบแทนจากการให้กู้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีหลายประเภท หลายอัตรา โดยทั่วไปขึ้นอยู่กับประเภทของเงินกู้หรือสินเชื่อ ซึ่งในที่นี้ผู้ให้กู้หมายถึง สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ Non-bank

ลองมารู้จักกับดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทต่าง ๆ ที่พบบ่อย ๆ กัน

 

ดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่และแบบลอยตัว

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ (Fixed Rate)

หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เป็นตัวเลขเฉพาะ ไม่ขึ้นหรือลงตามต้นทุนของสถาบันการเงิน คงที่ตลอดอายุสัญญาเงินกู้หรือในช่วงเวลาที่กำหนด เช่น กำหนดให้ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี เป็นเวลา 4 ปี

VS

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate)
หมายถึง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามต้นทุนของสถาบันการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินจะประกาศออกมาเป็นคราว ๆ ไป เช่น อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เช่น MLR MOR MRR

interest

MLR MOR และ MRR คืออะไร

 

คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ใช้อ้างอิงในการเรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้จากลูกค้า ซึ่งมีลักษณะเป็นดอกเบี้ยลอยตัว เช่น

1. MLR (Minimum Loan Rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี เช่น มีประวัติการเงินที่ดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างเพียงพอ โดยส่วนใหญ่ใช้กับเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เช่น สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ
2. MOR (Minimum Overdraft Rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี
3. MRR (Minimum Retail Rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย

 

ทั้งนี้ เราสามารถหาข้อมูลอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวที่ธนาคารพาณิชย์ใช้อยู่ได้จาก website ของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง และ website ของแบงก์ชาติ

 - ค่าธรรมเนียมเปรียบเทียบระหว่างธนาคาร

 - อัตราดอกเบี้ยย้อนหลัง

 

ทั้งนี้ สถาบันการเงินอาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บสำหรับสินเชื่อประเภทต่าง ๆ โดยบวกอัตราเพิ่มหรือลดเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเหล่านี้ เช่น MLR +/- x%