ใช้เงินยังไง...ให้อยู่รอดถึงสิ้นเดือน

เมื่อรายได้ที่มีค่อนข้างจำกัด รายจ่ายก็ย่อมถูกจำกัดตามไปด้วย แต่การคุมค่าใช้จ่ายอาจเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน การทำ “แผนใช้เงิน” ก็อาจเป็นอีกทางที่จะช่วยเราให้อยู่รอดในช่วงเวลาที่มีรายได้จำกัดแบบนี้

 

แผนใช้เงิน เป็นงบประมาณส่วนตัวที่ใช้ดูแลการใช้จ่ายในแต่ละช่วงเวลา โดยมากจะทำตามช่วงเวลาของรายรับ เช่น รับเงินรายเดือน ก็ทำแผนใช้เงินเป็นรายเดือน ถ้ารับรายสัปดาห์ ก็ทำรายสัปดาห์ การทำแผนอาจดูยุ่งยาก แต่ในสถานการณ์แย่ ๆ แผนใช้เงินจะเป็นเหมือนผู้ช่วยให้เราจัดการเงินของเราได้ดีขึ้น

 

แต่หากใครไม่มีเวลา ไม่อยากยุ่งยาก ก็ไม่ต้องทำแผนใหม่ทุกเดือน ทำแค่ตอนที่ชีวิตการเงินมีการเปลี่ยนแปลง เช่น รายได้เพิ่มหรือลด มีรายจ่ายที่ต้องจ่ายเป็นประจำทุกเดือนเพิ่มขึ้น หรือมีหนี้ที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น โดยทำตามขั้นตอนดังนี้

1. จดรายการรายรับต่อเดือนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งหมด

 

การที่เราจะจัดการเงิน เราก็ต้องรู้ก่อนว่า เรามีรายรับเท่าไหร่ โดยการเขียนออกมาให้ได้มากที่สุดว่า เงินที่เข้ามามีอะไรบ้าง เป็นจำนวนเท่าไหร่ เพื่อให้รู้จำนวนเงินเข้าในแต่ละเดือน

เมื่อมีข้อมูลรายรับครบแล้ว ก็ให้นำจำนวนเงินของรายรับแต่ละรายการมาบวกกัน แล้วเราจะได้ยอด “รวมรายรับ” ของเดือนนั้น ๆ

บันทึกรายรับ

 

เราจดรายรับได้หลายแบบ ตั้งแต่ซื้อสมุดมาตีตารางเอง สร้างตารางในโปรแกรม excel จนถึงใช้ application หรือดูวิธีทำแผนใช้เงินอย่างละเอียดที่นี่

 

2. จดรายจ่ายต่อเดือนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งหมด

พอจดรายรับแล้ว ก็ถึงเวลาจดรายจ่ายทั้งหมดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในแต่ละเดือนว่า มีรายการอะไรบ้าง จำนวนเท่าไหร่ จดทุกรายการที่ทำให้เงินออกจากกระเป๋า รวมถึงเงินออมก็ถือว่าเป็นรายจ่าย เพราะเป็นเงินที่ออกไปจากกระเป๋าเรา (ถึงแม้ว่าจะย้ายไปอยู่อีกกระเป๋าก็ตาม)

เมื่อเราจดรายจ่ายครบทุกรายการแล้ว ก็ให้นำจำนวนเงินของรายจ่ายทั้งหมดมาบวกกัน แล้วเราก็จะได้ยอด “รวมรายจ่าย” ของเดือนนั้น

บันทึกรายจ่าย

การจดรายจ่ายก็เหมือนการจดรายรับ เราสามารถจดได้หลายแบบ ตั้งแต่ซื้อสมุดมาตีตารางเอง สร้างตารางในโปรแกรม excel จนถึงใช้ application หรือดูวิธีทำแผนใช้เงินอย่างละเอียดที่นี่

 

3. ทำแผนใช้เงินให้อยู่รอดไปจนถึงสิ้นเดือน

 

รายการรายรับรายจ่ายที่ได้ จะยังไม่ใช่แผนใช้เงินที่เสร็จสมบูรณ์ เราจะต้องนำยอดรวมของรายรับและรายจ่ายมาเปรียบเทียบกันก่อน ผลที่ได้จากการเปรียบเทียบจะบอกเราว่า เราควรปรับรายรับและรายจ่ายอย่างไร เพื่อให้รายการรายรับรายจ่ายนี้กลายเป็น “แผนใช้เงิน” ที่นำไปใช้ได้

ผลที่ได้จากการเปรียบเทียบรายรับรายจ่ายมีดังนี้

 

1) รายรับ = รายจ่าย

แผนใช้เงินนี้จะทำให้เราจะอยู่รอดจนถึงสิ้นเดือน แต่หากมีรายจ่ายที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เช่น ค่าซ่อมรถ ค่ารักษาพยาบาล เงินที่มีอาจทำให้เราอยู่ได้ไม่ถึงสิ้นเดือน แต่หากเรามีเงินสำรองไว้สำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันแล้ว ก็ถือว่ารายการรายรับรายจ่ายนี้เป็น “แผนใช้เงิน” ที่สามารถนำไปเป็นแผนการใช้จ่ายของเราได้เลย

การปรับรายรับรายจ่าย: สำหรับคนที่ยังไม่มีเงินสำรองเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน อาจลดรายจ่ายอื่นลง (สามารถดูวิธีการหารายจ่ายที่จะสามารถลดได้ที่นี่) แล้วเพิ่มรายการ “เงินออมเผื่อฉุกเฉิน” ในช่องรายจ่ายเพื่อกันไว้ใช้จ่ายในอนาคต

 

2) รายรับ > รายจ่าย

เราจะอยู่รอดจนถึงสิ้นเดือนได้อย่างสบาย ๆ เพราะรายรับที่มีครอบคลุมรายจ่ายทั้งหมดแล้ว แต่ต้องแน่ใจว่า เราจดรายจ่ายครบหมดทุกรายการแล้ว หากยังไม่แน่ใจ แนะนำให้ทำบันทึกรายจ่าย

การปรับรายรับรายจ่าย: สำหรับรายรับที่เกินรายจ่าย อาจใช้เงินนั้นไปซื้อของที่อยากได้ แต่หากใครที่ยังไม่มีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉินหรือในช่วงที่ขาดรายได้ ให้เพิ่มรายการ “เงินออมเผื่อฉุกเฉิน” ในช่องรายจ่าย เพื่อแบ่งเงินไว้เป็นเงินเก็บสำรองสำหรับใช้จ่ายในอนาคต

 

3) รายรับ < รายจ่าย

เราจะอยู่ไม่รอดจนถึงสิ้นเดือนและอาจต้องกู้เงินเพื่อใช้จ่าย และหากปล่อยทิ้งไว้นานไป อาจกลายเป็นปัญหาทางการเงินได้ เพราะการใช้จ่ายเกินรายรับมักนำไปสู่ปัญหาหนี้สิน

การปรับรายรับรายจ่าย: เราจะต้องจัดการเงินอย่างจริงจัง เริ่มจากลดหรือตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น โดยดูวิธีลดรายจ่ายได้ที่ เงินหายไปไหน หากตัดรายจ่ายทุกอย่างที่ไม่จำเป็นออกหมดแล้ว แต่รายรับก็ยังน้อยกว่ารายจ่าย ก็ต้องหารายได้เพิ่ม

 

การหารายได้เพิ่ม อาจเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน ถ้ายังคิดไม่ออกว่าจะหารายได้เพิ่มยังไง อาจจะลองขายของที่ไม่ใช้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าที่ยังอยู่ในสภาพดี หรือของสะสม และหากยังไม่พอ ก็อาจต้องขายทรัพย์สินที่มีอยู่ พอเริ่มมีรายได้ ค่อยเก็บเงินซื้อใหม่

"เมื่อเราปรับรายจ่ายให้พอดีกับรายรับ และจัดสรรเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินแล้ว เราก็จะได้ “แผนใช้เงิน” ที่นำไปใช้เป็นแผนการใช้จ่ายของเราได้ แต่เราจะอยู่รอดจนถึงสิ้นเดือนหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราทำตามแผนใช้จ่ายที่เรากำหนดไว้ได้หรือไม่ แต่หากทำตามแผนที่วางไว้ไม่ได้ ก็ไม่ต้องกังวล เพราะ “แผนใช้เงิน” นี้เป็นของเราเอง เราจะปรับ จะลด จะเพิ่มยังไงก็ได้ แต่อย่าให้รายจ่ายเกินรายได้"