แผนใช้เงิน

แผนใช้เงิน (budget planner) เป็นแผนที่ทำเพื่อใช้คาดการณ์รายรับและรายจ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ส่วนมากเราจะทำแผนใช้เงินตามช่วงเวลาของรายรับ เช่น รายเดือน รายสัปดาห์

 

สำหรับคนที่มีรายได้ที่ไม่แน่นอน ก็ให้ทำเป็นรายเดือน โดยเฉลี่ยรายรับที่ได้ออกมาให้เป็นรายเดือน เนื่องจากรายจ่ายส่วนมากจะเรียกเก็บเป็นรายเดือน

 

แต่หากใครไม่ค่อยมีเวลา ไม่อยากทำแผนใช้เงินทุกเดือน ก็ทำเฉพาะตอนที่ชีวิตการเงินมีการเปลี่ยนแปลงก็ได้ เช่น รายได้ลด มีหนี้ที่ต้องชำระเพิ่ม เพื่อจัดสรรเงินให้พอใช้

 

แผนใช้เงิน จะประกอบไปด้วย (1) ข้อมูลรายรับ (2) ข้อมูลรายจ่าย (3) ส่วนเปรียบเทียบรายรับและรายจ่ายตามภาพด้านล่าง

 

แผนใช้เงิน

 

เราสามารถทำแผนใช้เงินได้ตามขั้นตอนด้านล่าง โดยจะขอยกตัวอย่าง "แผนใช้เงินแบบรายเดือน" เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจและสอดคล้องกับรายจ่ายส่วนใหญ่ที่มักเรียกเก็บเป็นรายเดือน

1. บันทึกรายรับ

 

เริ่มจากบันทึกรายรับที่คาดว่าจะได้รับในเดือนถัดไปทั้งหมดลงในส่วนที่ (1) โดยบันทึกทุกรายการที่เป็นเงินเข้ามา พร้อมทั้งจำนวนเงินที่เข้ากระเป๋าจริง ๆ

 

"ตัวอย่างของรายรับก็อย่างเช่น เงินเดือน เงินจากการทำงานพิเศษ รายได้จากค่าเช่า ผลตอบแทนจากการลงทุน หรือรายรับที่ได้มาจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ พูดง่าย ๆ ก็คือ มีเงินเข้ามาเท่าไหร่ ก็จดให้หมด"

 

แต่ถ้ามีเวลา เราอาจแยกประเภทของรายได้เพื่อประโยชน์ในการวางแผนหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่กระทบกับรายได้ เช่น ต้องหยุดงานกะทันหัน ซึ่งเราสามารถแบ่งรายได้ออกเป็น 2 ประเภท

1) รายได้จากการทำงาน (active income) เป็นรายได้ที่เกิดขึ้นเมื่อเราทำงาน หากเราหยุดทำงาน เราก็จะไม่มีรายได้ เช่น เงินเดือน รายได้จากการทำธุรกิจ รายได้จากการทำงาน part-time รายได้จากการขายของออนไลน์

2) รายได้จากการออมหรือลงทุน (passive income) เป็นรายได้ที่เกิดขึ้นจากการออมหรือลงทุน ถึงเราจะหยุดทำงาน รายได้ส่วนนี้ก็ยังคงมีอยู่ เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก รายได้จากการให้เช่า เงินปันผล

การแยกประเภทรายได้แบบนี้จะทำให้รู้ว่า หากต้องหยุดงานกะทันหันหรือเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ เราจะขาดรายได้ที่เป็น active income หรือรายได้จากการทำงาน แต่หากใครมีรายได้ที่เป็น passive income หรือรายได้จากการออมหรือลงทุนอยู่ ก็อาจไม่ลำบากมากนักเพราะยังมีรายได้ส่วนนี้ไว้ใช้จ่ายอยู่

cal

เราสามารถจดรายรับได้หลายแบบ ตั้งแต่ซื้อสมุดมาตีตารางเอง สร้างตารางในโปรแกรม excel จนถึงใช้ application หรือดาวน์โหลด worksheet แผนใช้เงิน ได้ที่นี่ เมื่อบันทึกรายรับครบหมดแล้ว ให้รวมจำนวนรายรับทั้งหมด แล้วกรอกลงช่อง "รวมรายรับ" เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบต่อไป

 

2. บันทึกรายจ่าย

 

เมื่อบันทึกรายรับเรียบร้อยแล้ว ก็บันทึกรายจ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่อง (2) โดยบันทึกทุกรายการที่ทำให้เงินออกจากกระเป๋า ทั้งรายจ่ายที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเดินทาง รวมถึงหนี้ และรายจ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นทุกเดือน แต่จะเกิดขึ้นในเดือนนั้น เช่น ค่าดูแลรักษารถ ค่าเทอมลูก ค่าท่องเที่ยว รวมไปถึงเงินออมก็ถือว่าเป็นรายจ่าย เพราะเป็นรายการที่ทำให้เงินออกจากกระเป๋า (ถึงแม้ว่าจะย้ายไปอยู่อีกกระเป๋าก็ตาม)

แต่ถ้าพอมีเวลา เราก็อาจแบ่งรายจ่ายออกเป็น 2 ประเภท เผื่อต้องปรับรายจ่าย ก็จะทำได้ง่ายขึ้น

1) รายจ่ายจำเป็น เป็นรายจ่ายที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ถ้าไม่จ่ายอาจกระทบถึงสุขภาพหรือคุณภาพชีวิต เช่น อาหาร ยารักษาโรค รายจ่ายประเภทนี้ตัดไม่ได้แต่ลดได้ เช่น แทนที่จะกินอาหารมื้อหรู ก็เลือกกินอาหารราคาธรรมดาที่มีสารอาหารครบ

2) รายจ่ายไม่จำเป็น เป็นรายจ่ายที่ไม่กระทบต่อการดำรงชีวิตหากไม่จ่าย แต่อาจทำให้มีความสุขน้อยลงบ้าง รายจ่ายประเภทนี้สามารถตัดหรือลดได้ เช่น ลดค่ากาแฟ เลิกเหล้า เลิกบุหรี่ เลิกซื้อลอตเตอรี่

การแยกประเภทแบบนี้จะทำให้เรารู้ว่า ต้องตัดหรือลดรายจ่ายไหนหากมีรายจ่ายเกินรายรับที่มี แต่การแยกรายจ่ายจำเป็นและไม่จำเป็นของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน เพราะความจำเป็นของคนเราแตกต่างกัน รายจ่ายบางรายการ อาจจำเป็นสำหรับคนหนึ่ง แต่อาจไม่จำเป็นสำหรับคนอีกคน

เช่นเดียวกับการบันทึกรายรับ เราสามารถบันทึกรายจ่ายได้หลายแบบ ตั้งแต่ซื้อสมุดมาตีตารางเอง สร้างตารางในโปรแกรม excel จนถึงใช้ application หรือดาวน์โหลด worksheet แผนใช้เงินได้ที่นี่

 

หากมั่นใจว่าบันทึกรายจ่ายครบหมดแล้ว ให้รวมจำนวนรายจ่ายทั้งหมด แล้วกรอกลงช่อง "รวมรายจ่าย" เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบต่อไป

3. เปรียบเทียบรายรับและรายจ่าย

 

รายการรายรับและรายจ่ายที่ได้จากช่อง (1) และ (2) จะเป็นเหมือนแผนใช้เงินที่ยังไม่เสร็จ ซึ่งรายการรายรับรายจ่ายนี้ จะนำไปใช้เป็น "แผนใช้เงิน" ได้ก็ต่อเมื่อรายรับมากกว่าหรือเท่ากับรายจ่าย

เราจึงต้องเปรียบเทียบยอดรวมของรายรับและรายจ่ายก่อนว่าได้ผลมาอย่างไร แล้วให้วงกลมเครื่องหมายมากกว่า น้อยกว่า หรือเท่ากับในส่วนที่ (3)

1) รายรับ = รายจ่าย

แปลว่า รายการรายรับและรายจ่ายนี้จะเป็นแผนใช้เงินได้ถ้าเรามีเงินออมเผื่อฉุกเฉินไว้แล้ว แต่หากเรายังไม่มีเงินออมเผื่อฉุกเฉิน และเรามีรายรับเท่ากับรายจ่ายพอดี อาจมีปัญหาเงินไม่พอใช้เกินขึ้นหากมีรายจ่ายที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เช่น ค่าซ่อมรถ ค่ารักษาพยาบาล

การปรับรายรับรายจ่าย: สำหรับคนที่ยังไม่มีเงินสำรองเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน อาจลดรายจ่ายอื่นลง (สามารถดูวิธีลดรายจ่ายได้ที่นี่) แล้วเพิ่มรายการ "เงินออมเผื่อฉุกเฉิน" ในด้านรายจ่ายเพื่อแบ่งเงินเก็บสำรองไว้ใช้จ่ายในอนาคต

 

2) รายรับ > รายจ่าย

แปลว่า รายการรายรับรายจ่ายนี้สามารถเป็นแผนใช้เงินได้ เพราะนอกจากรายรับที่มีครอบคลุมรายจ่ายทั้งหมดแล้ว ยังมีเงินเหลือที่จะนำไปออมเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือซื้อของที่อยากได้อื่น ๆ อีก แต่ต้องแน่ใจว่า เราจดรายจ่ายครบหมดทุกรายการแล้ว หากจะให้แน่ใจ เราอาจจะทำบันทึกรายจ่ายเพื่อให้รู้ว่า เรามีรายจ่ายมากน้อยแค่ไหน

การปรับรายรับรายจ่าย: สำหรับคนที่ยังไม่มีเงินสำรองเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน ต้องเพิ่มรายการ "เงินออมเผื่อฉุกเฉิน" ในด้านรายจ่ายเพื่อนำเงินส่วนเกินนั้นไปเก็บเป็นเงินสำรองไว้ใช้จ่ายในอนาคต

 

3) รายรับ < รายจ่าย

แปลว่า รายการรายรับรายจ่ายที่มีอยู่ ไม่สามารถเป็นแผนใช้เงินได้ เนื่องจากมีการใช้จ่ายเกินรายรับที่มี หากใช้จ่ายแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จะเข้าสู่วังวนแห่งหนี้ เพราะรายจ่ายส่วนที่เกินรายได้นั้น ส่วนใหญ่มักเป็นรายจ่ายที่เกิดจากการก่อหนี้

การปรับรายรับรายจ่าย: ต้องจัดการเงินอย่างจริงจัง เริ่มจากลดหรือตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก (ดูวิธีลดรายจ่ายได้ที่ เงินหายไปไหน) หากตัดรายจ่ายทุกอย่างที่ไม่จำเป็นออกหมดแล้ว แต่รายรับก็ยังน้อยกว่ารายจ่าย ก็ต้องหารายได้เพิ่ม

 

การหารายได้เพิ่ม อาจเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน ถ้ายังคิดไม่ออกว่าจะหารายได้เพิ่มยังไง อาจจะลองขายของที่ไม่ใช้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าที่ยังใช้งานได้อยู่ หรือของสะสม และหากลำบากจริง ๆ ก็อาจต้องขายทรัพย์สินที่มีอยู่ พอเริ่มมีรายได้ ค่อยเก็บเงินซื้อใหม่

 

"แผนใช้เงินที่ดี" ต้องมีรายจ่ายไม่เกินรายรับที่มี และต้องจัดสรรเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินสำรองเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินแล้ว

 

"หากใครมีเป้าหมายอยากซื้อของ ไม่ว่าจะเป็นของชิ้นเล็กหรือของชิ้นใหญ่ ก็อาจเพิ่มรายการ "เงินออมเพื่อซื้อของ..." ไว้ในด้านรายจ่าย แล้วใช้จ่ายตามงบที่เราคาดการณ์ไว้ เท่านี้เราก็สามารถซื้อของที่เราอยากซื้อได้ แต่หากเราใช้จ่ายตามแผนใช้เงินแล้ว รู้สึกอึดอัด เครียด ที่ไม่สามารถทำตามที่กำหนดไว้ได้ ก็ให้ลองปรับ ลด เพิ่ม ตามความสามารถทางการเงินของเรา"