ทำความเข้าใจภาษี

การเผยแพร่ผลงานครูในโครงการหรือตามความร่วมมือต่าง ๆ

ชื่อกิจกรรม : ทำความเข้าใจภาษี

 

ชื่อครู/หน่วยงาน : อ.วีรพล แก้วพันธ์อ่ำ และ อ.ธีรภาพ แซ่เชี่ย ผลงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ชื่อโรงเรียนที่สอนหรือฝึกสอน : โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ภาคการศึกษาและปีการศึกษาที่ใช้สอน/ทำกิจกรรม : ภาคการเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2566

 

ระดับชั้น : มัธยมศึกษาปีที่ 5

 

รูปแบบการนำไปใช้ : 

รายวิชาเฉพาะ - วิชารู้ทันการเงิน

 

วัตถุประสงค์การเรียนรู้ :

1.  เพื่อให้ผู้เรียนตระหนักรู้และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

2.  เพื่อให้ผู้เรียนวางแผนและเตรียมตัวจ่ายภาษีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

 

สมรรถนะทางการเงิน (Financial competency) :

สมรรถนะหลัก

FK84. รู้ว่าการชำระภาษีเป็นรายได้ของรัฐ เพื่อให้รัฐนำไปใช้พัฒนาประเทศ เช่น การพัฒนาสาธารณูปโภค การมีสวัสดิการจากภาครัฐ (ม. ปลาย)

FK85. มีความรู้พื้นฐานเรื่องภาษี เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย (ม. ปลาย)

FK86. เข้าใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากไม่ชำระภาษี (ม. ปลาย)

 

สมรรถนะเสริม

FK131. รู้ว่าเงินเดือนหรือค่าจ้างอาจถูกหักค่าใช้จ่าย เช่น ค่าภาษี ประกันสังคม จึงทำให้เงินที่ได้รับน้อยกว่าอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง และรู้ว่ารายจ่ายบางประเภทที่ถูกหักนั้นเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (อุดมศึกษา)

FK133. รู้ว่ารายได้ประเภทใดต้องเสียภาษี และรู้ว่าต้องเสียภาษีเมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ตามที่กำหนด (อุดมศึกษา)

 

ตัวชี้วัด สพฐ. ถ้ามี :

 

กลุ่มสาระการเรียนรู้

 

 

ตัวชี้วัดระหว่างทาง

 

ตัวชี้วัดปลายทาง

 

สังคมศึกษา

 

 

ส 3.2 ป.3/2 บอกความสำคัญของภาษีและบทบาทของประชาชนในการเสียภาษี

 

 

 

กระบวนการจัดการเรียนรู้หรือขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม :

1.  ผู้สอนตั้งคำถามเพื่อเชื่อมโยงประสบการณ์ในชีวิตประจำวันว่า ผู้เรียนเคยเสียภาษีหรือไม่ ถ้าเคยคิดว่าเป็นภาษีอะไร ? (ตัวอย่างคำตอบคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากเป็นภาษีที่ทุกคนจะต้องจ่ายผ่านการอุปโภคบริโภคสินค้าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีรายได้หรือยังไม่มีรายได้ และเป็นภาษีที่ใกล้ตัวผู้เรียนที่สุด ผู้สอนอาจแนะนำให้ผู้เรียนรู้จักภาษีมูลค่าเพิ่มเติมด้วยคลิปวิดีโอสั้น) ก่อนชวนผู้เรียนคิดต่อว่า รัฐบาลนำภาษีที่เราจ่ายไปทำอะไรบ้าง เพื่อให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญของหน้าที่การเสียภาษีว่า ทำไมต้องเสียภาษี ?

 

2.  ผู้สอนอธิบายประเภทของภาษีว่ามี 2 ประเภท ได้แก่ ภาษีทางตรง และภาษีทางอ้อม และในแต่ละประเภทมีภาษีอะไรที่ผู้เรียนควรรู้ในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากนั้นผู้สอนตั้งคำถามเพิ่มเติมว่า

  • คิดว่าในอนาคตจะประกอบอาชีพหรือทำงานอะไร ?
  • มีรายได้ต่อเดือนเท่าไหร่ ?
  • คาดว่าจะใช้ค่าลดหย่อนอะไรบ้าง ?

 

3.  จากนั้นผู้สอนอธิบายวิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและองค์ประกอบในการคำนวณที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) ค่าใช้จ่าย (ส่วนที่ขึ้นอยู่กับประเภทเงินได้) และ 2) ค่าลดหย่อน (ส่วนที่สามารถใช้เพื่อการวางแผนภาษีได้) และลองตั้งโจทย์ให้ผู้เรียนลองคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ ผู้สอนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การฝึกทำโจทย์นี้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เรียนเข้าใจหลักการการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งในอนาคตหากผู้เรียนมีรายได้แล้ว สามารถค้นหาและใช้เครื่องมือการคำนวณภาษีบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือเว็บไซต์ของกรมสรรพากรเองได้

ตัวอย่าง น.ส. ก เป็นพนักงานบริษัทเอกชน สถานะโสด ที่ทำงานมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) น.ส. ก ยังมีอาชีพเสริม คือ รับออกแบบงานกราฟฟิกและทำขนมขาย น.ส. ก ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเงินได้ประเภทใดบ้าง หักค่าใช้จ่าย หักค่าลดหย่อน และเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่าไหร่ โดยคำนวณตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามตารางด้านล่าง

 

เงินได้สุทธิ

อัตราภาษี

ภาษีสูงสุด

ในแต่ละขั้นภาษี

ภาษีสะสมสูงสุด

0 – 150,000

5%

ยกเว้น

0

เกิน 150,000 – 300,000

5%

7,500

7,500

เกิน 300,000 – 500,000

10%

20,000

27,500

เกิน 500,000 – 750,000

15%

37,500

65,000

เกิน 750,000 – 1,000,000

20%

50,000

115,000

เกิน 1,000,000 – 2,000,000

25%

250,000

365,000

เกิน 2,000,000 – 5,000,000

30%

900,000

1,265,000

เกิน 5,000,001 ขึ้นไป

35%

คำนวณตามจริง

คำนวณตามจริง

 

4.  ผู้สอนให้ผู้เรียนเสนอความคิดเห็นว่า ความเข้าใจเรื่องภาษีช่วยให้วางแผนทางการเงินได้หรือไม่ อย่างไร ? และถ้าไม่วางแผนภาษีจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง ? หลังจากนั้นชวนผู้เรียนสรุปกิจกรรมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อให้เข้าใจความสำคัญของการวางแผนภาษี โดยผู้สอนสามารถเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับโทษของการไม่ยื่นภาษี ยื่นภาษีล่าช้า ไม่ชำระภาษีในกำหนดเวลา หรือชำระภาษีไม่ถูกต้อง

 

5.  ผู้สอนชวนผู้เรียนถอดบทเรียน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้สอนในการออกแบบการเรียนรู้ในคาบเรียนต่อไป

  • ทำกิจกรรมนี้แล้วเป็นอย่างไรบ้าง ?
  • ข้อค้นพบใหม่ที่เกิดขึ้นกับตนเอง ?
  • สิ่งที่อยากให้ครูช่วยเหลือในคาบเรียนนี้ ?

 

การประเมินและการวัดผลการเรียนรู้ :

1.  สังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนในการคิดวิเคราะห์และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันของผู้เรียน