ภารกิจวางแผนปลดหนี้

การเผยแพร่ผลงานครูในโครงการหรือตามความร่วมมือต่าง ๆ

ชื่อกิจกรรม : ภารกิจวางแผนปลดหนี้

 

ชื่อครู/หน่วยงาน : อ.วีรพล แก้วพันธ์อ่ำ และ อ.ธีรภาพ แซ่เชี่ย ผลงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ชื่อโรงเรียนที่สอนหรือฝึกสอน : โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ภาคการศึกษาและปีการศึกษาที่ใช้สอน/ทำกิจกรรม : ภาคการเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2566

 

ระดับชั้น : มัธยมศึกษาปีที่ 5

 

รูปแบบการนำไปใช้ : 

รายวิชาเฉพาะ - วิชารู้ทันการเงิน

 

วัตถุประสงค์การเรียนรู้ :

1.  เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องหนี้และปัญหาหนี้

2.  เพื่อให้ผู้เรียนคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจเป็นหนี้ ผลกระทบและแนวทางปฏิบัติเมื่อชำระหนี้ไม่ไหว

 

สมรรถนะทางการเงิน (Financial competency) :

สมรรถนะหลัก

FK55. รู้ผลเสียของการมีหนี้มากเกินไป (ม. ต้น)

FK108. รู้ความแตกต่างระหว่าง (ม. ปลาย)

    - หนี้ดีเช่น หนี้เพื่อการศึกษา หนี้เพื่อการประกอบอาชีพ

    - หนี้พึงระวัง เช่น หนี้จากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

    - หนี้อันตราย เช่น หนี้ที่เกิดจากการพนัน การเสี่ยงโชค

FK109. รู้ว่าสินเชื่อแต่ละประเภทมีไว้ให้กู้เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน (ม. ปลาย)

FK110. เข้าใจความแตกต่างระหว่างหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ (ม. ปลาย)

FK148. เข้าใจเงื่อนไขและข้อกำหนดของสินเชื่อแต่ละประเภท เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด เช่าซื้อรถ สินเชื่อบ้าน Buy Now Pay Later (อุดมศึกษา)

FK151. เข้าใจประเภทของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เช่น อัตราดอกเบี้ยคงที่ อัตราดอกเบี้ยลอยตัว รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ (อุดมศึกษา)

FK156. รู้สิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้บริการทางการเงิน เมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามใบแจ้งหนี้ เช่น ขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้เมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ (อุดมศึกษา)

FK157. รู้ถึงความเสี่ยงของการใช้สินเชื่อผิดวัตถุประสงค์ รวมถึงการกู้ยืมเพื่อปิดหนี้เดิม (อุดมศึกษา)  

FK181. รู้วิธีแก้ปัญหาหนี้หากจ่ายไม่ไหว เช่น ขอลดค่างวด ขอลดอัตราดอกเบี้ย ขอพักชำระเงินต้น (วัยทำงาน)

FK182. รู้วิธีจัดลำดับการชำระหนี้เมื่อมีหนี้หลายก้อน แต่มีเงินไม่พอจ่ายหนี้ทั้งหมด (วัยทำงาน)

 

สมรรถนะเสริม

FK154. รู้ว่าต้องจ่ายดอกเบี้ย ค่าปรับ หรือค่าธรรมเนียม หากชำระหนี้ไม่เต็มจำนวนหรือล่าช้า (อุดมศึกษา)

FK155. รู้ถึงผลกระทบจากการไม่ชำระหนี้ เช่น อาจถูกยึดหลักประกัน รวมถึงรู้เรื่องขั้นตอนในการทวงหนี้ (debt recovery process) (อุดมศึกษา)

FK183. รู้จักหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาหรือให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาหนี้ (อุดมศึกษา)

FA36. มีทัศนคติที่จะหาทางเลือกอื่น ๆ ก่อนก่อหนี้ เช่น ใช้เงินเก็บ ยืมเงินจากครอบครัว เป็นหนี้เท่าที่จำเป็น และมั่นใจที่จะปฏิเสธเงินกู้ที่ไม่ต้องการ (อุดมศึกษา)

FA37. มีความรับผิดชอบที่จะชำระหนี้และบริหารจัดการหนี้ (อุดมศึกษา)

 

ตัวชี้วัด สพฐ. ถ้ามี :

 

กลุ่มสาระการเรียนรู้

 

 

ตัวชี้วัดระหว่างทาง

 

ตัวชี้วัดปลายทาง

 

สังคมศึกษา

 

 

 

 

 

ส 3.2 ป.5/2 จำแนกผลดีและผลเสียของการกู้ยืม

 

กระบวนการจัดการเรียนรู้หรือขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม :

1.  ผู้สอนเตรียมความพร้อมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยการตั้งคำถาม 2 ข้อ

  • คิดอย่างไรกับคำว่า “หนี้” ?
  • ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้มีหนี้ ?

จากนั้นสรุปประเด็นเรื่องหนี้ในมุมมองของผู้เรียน ส่วนใหญ่จะพบว่าผู้เรียนโดยมากสะท้อนมุมมองเรื่องหนี้ในมิติด้านลบ เช่น หนี้เป็นปัญหา หนี้ทำให้เกิดความยากจน หนี้ทำให้ไม่มีความสุข หนี้ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและครอบครัวอย่างหนี้นอกระบบ ผู้สอนอาจนำเสนอเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นอีกด้านของการมีหนี้ที่ไม่ได้เป็นเพียงด้านลบเท่านั้น เช่น ผู้ประกอบการรายใหม่ (Startup) ที่อาจมีการกู้เงินมาเพื่อลงทุนทำธุรกิจแต่ไม่มีเงินลงทุนก็สามารถสร้างความสำเร็จทางการเงินจากการกู้ยืมเงินมาทำธุรกิจได้ หรือการกู้ยืมเงินมาเพื่อการศึกษาก็นับว่าเป็นหนี้ที่ดี เพราะเป็นหนี้ที่สามารถต่อยอดและสร้างอาชีพได้ในอนาคต

 

2.  ผู้สอนชวนผู้เรียนจัดกลุ่มหนี้ 3 ประเภท พร้อมทั้งอธิบายประเภทของหนี้เพิ่มเติม

    - หนี้ดี เช่น หนี้เพื่อการศึกษา หนี้เพื่อการประกอบอาชีพ

    - หนี้พึงระวัง เช่น หนี้จากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

    - หนี้อันตราย เช่น หนี้ที่เกิดจากการพนัน การเสี่ยงโชค

 

3.  ผู้สอนนำเสนอว่า เวลาจะก่อหนี้ก็ควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงทางเลือกทางการเงินอื่น ๆ เช่น การใช้เงินออม การยืมจากครอบครัว อย่างไรก็ตาม แม้จะพิจารณาอย่างดีแล้วก็อาจประสบปัญหา ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เช่น ตกงาน เจ็บป่วยหนักจนต้องใช้เงินก้อนโต ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาหนี้ก็จำเป็นต้องจัดการผ่าน 3 ขั้นตอน ได้แก่

  •    สำรวจภาระหนี้
  •    ปรับแผนใช้เงินและสำรวจทรัพย์สินสามารถขายได้
  •    มองหาตัวช่วย

จากนั้นให้ผู้เรียนเลือกการ์ดพื้นฐานชีวิตที่เป็นเงื่อนไขในการจัดการหนี้ของแต่ละกลุ่ม โดยผู้สอนสามารถออกแบบการ์ดพื้นฐานให้หลากหลาย เนื่องจากแต่ละกลุ่มจะได้การ์ดพื้นฐานชีวิตที่แตกต่างกัน เช่น รับมรดกจากคุณพ่่อ 700,000 บาท ได้้เงินคืนจากประกันชีวิต 500.000 บาท ขายที่ดินได้เงิน 120,000 บาท ทำงานพิเศษได้เงิน 40,000 บาท ขายของออนไลน์ได้เงิน 50,000 บาท จากนั้นให้แต่ละกลุ่มนำเสนอแนวทางการบริการจัดการหนี้ให้กับนายเศรษฐี มั่งคั่งมงคล

 

นายเศรษฐี มั่งคั่งมงคล อายุ 25 ปี

อาชีพ : พนักงานบริษัทเอกชน ด้านกราฟฟิกดีไซน์

การใช้ชีวิต : เล่นเกม อ่านหนังสือ พูดคุยกับคน สังสรรค์กับเพื่อน

รายได้ต่อเดือน : 35,000 บาทต่อเดือน

รายจ่ายต่อเดือน (ไม่รวมภาระผ่อนหนี้) : 20,000 บาทต่อเดือน

ภาระหนี้ :

  • หนี้บัตรเครดิต 30,000 บาท ผ่อนขึ้นต่ำเดือนละ 3,000 บาท
  • หนี้นอกระบบ 50,000 บาท จ่ายแต่ดอกเบี้ยเดือนละ 5,000 บาท

สถานะ : มีคนรู้ใจ โดยมีแผนแต่งงานภายใน 3 ปีข้างหน้า

ความฝัน : อยากมีบ้าน รถยนต์ และต้องการเกษียณอายุ 55 ปี ต้องการใช้เงินเดือนละ 20,000 บาท และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่ถึง 80 ปี

 

4.  ผู้สอนชวนผู้เรียนสรุปวิธีการแก้หนี้ พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่า วิธีการแก้หนี้ไม่ได้มีผิดถูก แต่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละบุคคลซึ่งอาจมีความแตกต่างกัน

 

5.  ผู้สอนชวนผู้เรียนถอดบทเรียน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้สอนในการออกแบบการเรียนรู้ในคาบเรียนต่อไป

  • ทำกิจกรรมนี้แล้วเป็นอย่างไรบ้าง ?
  • ข้อค้นพบใหม่ที่เกิดขึ้นกับตนเอง ?
  • สิ่งที่อยากให้ครูช่วยเหลือในคาบเรียนนี้ ?

 

การประเมินและการวัดผลการเรียนรู้ :

1.  ประเมินผลการเรียนรู้จากการนำเสนอ

2.  สังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนในการคิดวิเคราะห์และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันของผู้เรียน