จัดพอร์ตการลงทุน
ชื่อกิจกรรม : จัดพอร์ตการลงทุน
ชื่อครู/หน่วยงาน : อ.วีรพล แก้วพันธ์อ่ำ และ อ.ธีรภาพ แซ่เชี่ย ผลงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชื่อโรงเรียนที่สอนหรือฝึกสอน : โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภาคการศึกษาและปีการศึกษาที่ใช้สอน/ทำกิจกรรม : ภาคการเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2566
ระดับชั้น : มัธยมศึกษาปีที่ 5
รูปแบบการนำไปใช้ :
รายวิชาเฉพาะ - วิชารู้ทันการเงิน
วัตถุประสงค์การเรียนรู้ :
เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องแนวคิดพื้นฐานของการลงทุน เช่น ประเภทผลิตภัณฑ์การลงทุน ความสัมพันธ์ของความเสี่ยงและผลตอบแทน และสามารถสร้างพอร์ตการลงทุนเบื้องต้นที่เหมาะสมกับตนเองได้
สมรรถนะทางการเงิน (Financial competency) :
สมรรถนะหลัก
FK104. เข้าใจว่าการลงทุนมีทั้งขาดทุนและกำไร (ม. ปลาย)
FK105. รู้จักผลิตภัณฑ์การออมและการลงทุนว่ามีความเสี่ยงและผลตอบแทนที่แตกต่างกัน (ม. ปลาย)
FK112. รู้ว่าผู้เสนอขายผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินอาจนำเสนอเฉพาะผลตอบแทน โดยไม่ได้บอกถึงความเสี่ยง จึงควรหาข้อมูลเพิ่มเติม (ม. ปลาย)
FA28. ยอมรับว่าการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงมีความเสี่ยงสูง (ม. ปลาย)
FB30. สามารถเปรียบเทียบและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินที่เหมาะสมกับตนเองและเป้าหมายทางการเงินที่วางไว้ (ม. ปลาย)
FK139. เข้าใจแนวคิดการลงทุนเบื้องต้น เช่น วัตถุประสงค์การลงทุน ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ระยะเวลาการลงทุน มูลค่าเงินตามเวลา (อุดมศึกษา)
FK140. เข้าใจผลิตภัณฑ์การลงทุนต่าง ๆ รวมถึงระดับความเสี่ยง สภาพคล่อง และคุณลักษณะด้านความยั่งยืน เช่น ไม่ลงทุนในธุรกิจที่อาจขัดต่อศีลธรรม (อุดมศึกษา)
FK141. เข้าใจว่าควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่แตกต่างกันในการวางแผนการเงินระยะสั้น ระยะยาว หรือการออมเผื่อฉุกเฉิน (อุดมศึกษา)
FK143. รู้ว่าการลงทุนแต่ละประเภทมีสภาพคล่องที่ต่างกัน (อุดมศึกษา)
FK144. รู้ว่ามูลค่าของสินทรัพย์ลงทุนอาจเพิ่มหรือลดได้ (อุดมศึกษา)
FK147. รู้วิธีการจัดพอร์ตการลงทุนอย่างง่าย (อุดมศึกษา)
สมรรถนะเสริม
FA15. ยอมรับว่าการพนันและการเสี่ยงโชคไม่ใช่ช่องทางในการหารายได้หรือสร้างความมั่งคั่ง (ม. ต้น)
FB31. มีเงินออมก่อนลงทุน เช่น เงินออมเผื่อฉุกเฉิน และศึกษาข้อมูลก่อนลงทุน (ม. ปลาย)
FA33. มีความมั่นใจและมีแรงจูงใจที่จะตั้งคำถามหรือสงสัยในผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ดูดีเกินจริง (อุดมศึกษา)
ตัวชี้วัด สพฐ. ถ้ามี :
กลุ่มสาระการเรียนรู้
|
ตัวชี้วัดระหว่างทาง |
ตัวชี้วัดปลายทาง |
สังคมศึกษา
|
ส 3.1 ม.2/1 ม.2/1 วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนและการออมวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนและการออม
|
|
กระบวนการจัดการเรียนรู้หรือขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม :
1. ผู้สอนให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นว่า การออมและการลงทุนแตกต่างกันอย่างไร ? จากนั้นให้ผู้เรียนชวนกันสรุปคำตอบ และผู้สอนอธิบายเพิ่มเติมว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน เพราะความเสี่ยงและผลตอบแทนเป็นของคู่กัน ถ้าอยากได้ผลตอบแทนสูง ๆ ก็ต้องทำใจเอาไว้ด้วยว่าการลงทุนนั้นจะมีโอกาสขาดทุนสูงด้วยเช่นกัน High Risk, High (Expected) Return”
2. ผู้สอนอธิบาย 2 สิ่งต้องรู้ก่อนลงทุน ได้แก่ 1) รู้จักตนเอง ทั้งเป้าหมายการลงทุนคืออะไร ? ใช้เงินจำนวนเท่าไหร่ ? ต้องการบรรลุเป้าหมายภายในระยะเวลาเท่าไหร่ ? และยอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหน ? 2) รู้จักทางเลือกลงทุน โดยต้องศึกษาทางเลือกในการลงทุนต่าง ๆ ทั้งเงินฝาก ตราสารหนี้ หุ้นสามัญ สินทรัพย์ทางเลือก และกองทุนรวม จากนั้นผู้สอนอธิบายความหมายและลักษณะสำคัญของผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อการออมและการลงทุนต่าง ๆ ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์มีความเสี่ยงและผลตอบแทนที่แตกต่างกัน
3. ผู้สอนเกริ่นว่า หลังจากผู้เรียนรู้จักและศึกษาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อการออมและการลงทุนต่าง ๆ แล้ว อย่าเพิ่งใจร้อนรีบลงทุนทันที แต่ควรสร้างพอร์ตลงทุนที่เหมาะกับตนเองก่อนเริ่มลงทุนจริง โดยควรจัดพอร์ตการลงทุนแยกตามเป้าหมายทางการเงิน คือ 1 เป้าหมายการเงิน 1 พอร์ตการลงทุน ทำให้เงินลงทุนไม่ปะปนกันและช่วยให้มีโอกาสบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น รวมถึงสามารถเลือกระดับความเสี่ยงและจัดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับแต่ละเป้าหมายได้
4. ผู้สอนแจกใบงาน “เป้าหมายกับพอร์ตลงทุน” และ “สำรวจพอร์ตการลงทุน” โดยให้ผู้เรียนทดลองตั้งเป้าหมายทางการเงิน ระบุความเสี่ยงที่รับได้ ผลตอบแทนที่คาดหวัง และสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการเงินและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
5. ผู้สอนชวนผู้เรียนถอดบทเรียน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้สอนในการออกแบบการเรียนรู้ในคาบเรียนต่อไป
การประเมินและการวัดผลการเรียนรู้ :
1. ประเมินผลการเรียนรู้จากใบงาน
2. สังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนในการคิดวิเคราะห์และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันของผู้เรียน