ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
25 มกราคม 2566 ใช้เวลาอ่าน 999 นาที
แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนกันยายน 2565
การอุปโภคบริโภค ขยายตัวต่อเนื่อง
จากการใช้จ่ายในหมวดบริการ สินค้าคงทน และสินค้าอุปโภคบริโภค ตามความเชื่อมั่นในการบริโภคที่ปรับดีขึ้น และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของภาครัฐ ขณะที่ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง ยังเป็นปัจจัยกดดันการบริโภค
การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง
จากการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับลดลง ตามการนำเข้าสินค้าทุนในหมวดเครื่องจักรและการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง
การใช้จ่ายภาครัฐ หดตัวต่อเนื่อง
ตามรายจ่ายประจำจากหมวดค่าวัสดุ หมวดค่าตอบแทน หมวดเงินอุดหนุนทั่วไปและหมวดรายจ่ายอื่น และรายจ่ายลงทุนหดตัวจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรมทางหลวงชนบทเป็นสำคัญ
การค้าผ่านด่านศุลกากร
การส่งออก หดตัวน้อยลง ตามการส่งออกชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ไปจีน และส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมไป สปป.ลาว เป็นสำคัญ
การนำเข้า หดตัวมากขึ้น ตามการนำเข้าชิ้นส่วน-อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าจาผลกระทบของนโยบาย Zero-COVID ของจีนเป็นสำคัญ
รายได้เกษตรกร ขยายตัวชะลอลง
จากราคาสินค้าเกษตร ตามราคายางพารา จากความต้องการใช้ยางในต่างประเทศที่ชะลอตัวและราคามันสำปะหลัง จากผลผลิตที่เริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น สำหรับผลผลิตขยายตัวใกล้เคียงเดือนก่อนตามผลผลิตยางพาราและมันสำปะหลังที่เข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยว
ภาคอุตสาหกรรม หดตัวต่อเนื่อง
ตามการผลิตสิ่งทอที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการของต่างประเทศและน้ำตาลทรายขาวยังขยายตัวตามผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิต HDD ยังอยู่ในระดับต่ำ จากปัญหา supply disruption ในจีน และเครื่องแต่งกายที่หดตัวจากความต้องการของประเทศคู่ค้าสำคัญที่ลดลง
อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามราคาพลังงานที่ชะลอตัว ขณะที่ราคาอาหารสดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การจ้างงาน เพิ่มขึ้น ตามจำนวนผู้มีงานทำที่เพิ่มขึ้น และอัตราการว่างงานที่ลดลง
ธนาคารแห่งประเทศไทย
31 ตุลาคม 2565
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th