ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

25 มกราคม 2566 ใช้เวลาอ่าน 999 นาที

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนกุมภาพันธ์ 2566

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขยายตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการอุปโภคบริโภคที่ขยายตัว
    ตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวและรายได้เกษตรที่ขยายตัว
  • ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับการผลิตเพื่อการส่งออกที่ยังหดตัวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
  • อย่างไรก็ตาม ต้นทุนค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในระยะต่อไป

การอุปโภคบริโภค ขยายตัวเล็กน้อย

สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าหมวดบริการขยายตัวเล็กน้อยจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยปรับดีขึ้น ขณะที่สินค้าคงทนหดตัว จากความเข้มงวดในเงื่อนไขการพิจารณาสินเชื่อรถใหม่ของสถาบันการเงิน และสินค้ากึ่งคงทนหดตัวเล็กน้อยจากผลของค่าครองชีพที่ยังทรงตัวในระดับสูง

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง

ทั้งการลงทุนด้านก่อสร้าง ตามพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ และการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวจากการนำเข้าสินค้าทุน ตามทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และการลงทุนเครื่องจักรภายในประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการเร่งลงทุนในปีก่อน

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร ขยายตัวต่อเนื่อง

การส่งออก หดตัวเล็กน้อย ตามการส่งออกชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ไปจีนจากที่เร่งไปมากในเดือนก่อนและการส่งออกยานยนต์ไป สปป.ลาว ที่ยังหดตัวต่อเนื่อง ตามกำลังซื้อที่เปราะบาง ขณะที่การนำเข้า ขยายตัวสูงขึ้น ตามการนำเข้าจากจีนในหมวดเคมีภัณฑ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและโทรศัพท์มือถือ

 

รายได้เกษตรกร ขยายตัวชะลอลง

จากผลผลิตที่หดตัว ตามผลผลิตของมันสำปะหลังที่ลดลงจากผลกระทบของอุทกภัยในปลายปีก่อน ขณะที่ราคาขยายตัวตามราคามันสำปะหลัง เนื่องจากผลผลิตน้อยลงและความต้องการทั้งในและต่างประเทศที่ยังสูงเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ทดแทนธัญพืชที่ยังมีราคาสูง

 

ภาคอุตสาหกรรม หดตัวต่อเนื่อง

ตามการผลิตเพื่อส่งออกที่หดตัว โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและผลิตภัณฑ์ยางพาราที่ลดลงจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว สำหรับการผลิตแป้งมันสำปะหลังลดลงจากผลกระทบของอุทกภัยในพื้นที่ปลูกสำคัญ อาหารสัตว์ลดลงจากราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การผลิตในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มชะลอลง หลังเร่งผลิตในช่วงก่อน

 

การท่องเที่ยว ขยายตัวชะลอลง

ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงหลังจากเร่งไปมากในเดือนก่อนที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว รวมทั้งนักท่องเที่ยวไทยบางส่วนหันไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น และการจัดกิจกรรมในพื้นที่ลดลง อาทิ งานประชุมและสัมมนา งานอีเว้นต์ และงานคอนเสิร์ต

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามราคาพลังงานและอาหารสด

 

ตลาดแรงงาน ปรับดีขึ้น ตามจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่เพิ่มขึ้น และจำนวนผู้ว่างงานใหม่ตามมาตรา 38 ที่ลดลง 

 

ปัจจัยที่ต้องติดตาม

- ความเข้มแข็งของการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน

- การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
31 มีนาคม 2566

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th