ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

25 มกราคม 2566 ใช้เวลาอ่าน 999 นาที

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนมีนาคม 2566

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หดตัวจากเดือนก่อน ตามการอุปโภคบริโภคที่หดตัว จากมาตรการภาครัฐที่น้อยกว่าปีก่อน
  • รายได้เกษตรกรหดตัวตามผลผลิตมันสำปะหลังและอ้อยที่ลดลง การลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่อง สำหรับการผลิตอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงแต่การผลิตเพื่อการส่งออกยังคงได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว
  • อย่างไรก็ดี การค้าผ่านด่านศุลกากรและจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านปรับดีขึ้นหลังการเปิดประเทศ

การอุปโภคบริโภค กลับมาหดตัว

จากมาตรการภาครัฐที่น้อยกว่าปีก่อน อาทิ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 และต้นทุนค่าครองชีพที่ทรงตัวในระดับสูงที่ยังกดดันการบริโภค ทำให้การใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้ากึ่งคงทนหดตัว รวมทั้งสินค้าคงทนหดตัว หลังเร่งส่งมอบไปในเดือนก่อน ขณะที่การใช้จ่ายหมวดบริการขยายตัวจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 5

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง

ทั้งการลงทุนด้านก่อสร้าง ตามพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ และการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัวจากการนำเข้าสินค้าทุน ตามทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวสูงต่อเนื่อง และการลงทุนเครื่องจักรภายในประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการเร่งลงทุนในปีก่อน

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร ขยายตัวต่อเนื่อง

การส่งออก กลับมาขยายตัว ตามการส่งออกไปจีนที่ขยายตัวในทุกหมวดสินค้า ปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ที่ส่งไปสปป.ลาว รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่มที่ส่งไปเวียดนาม

การนำเข้าขยายตัวต่อเนื่อง ตามการนำเข้าสินค้าจากจีนเกือบทุกหมวดสินค้า เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือที่ขยายตัวจากผลของการเปิดประเทศ

 

รายได้เกษตรกร หดตัว

จากผลผลิตที่หดตัวตามผลผลิตของมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบของอุทกภัยในปลายปีก่อน และผลผลิตอ้อยที่ลดลง จากการที่เกษตรกรใส่ปุ๋ยน้อยในช่วงการเจริญเติบโตของพืชน้อยลง เนื่องจากราคาปุ๋ยเคมีเพิ่มสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

 

ภาคอุตสาหกรรม หดตัวน้อยลง

จากการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราที่เพิ่มขึ้นตามพื้นที่กรีดยางที่เพิ่มขึ้น และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับดีขึ้นจากการเพิ่มสต็อก แม้การผลิตยังคงอยู่ในระดับต่ำจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอลง อย่างไรก็ตาม การผลิตน้ำตาลและแป้งมันสำปะหลังลดลงจากผลผลิตที่ลดลง

 

การท่องเที่ยว ขยายตัวเล็กน้อย

จากการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นในจังหวัดหลัก เช่น งานคอนเสิร์ต งานแข่งขันกีฬา ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก สปป. ลาวที่เข้ามาท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอย เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลภายหลังการเปิดประเทศ

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามราคาพลังงานและอาหารสด

 

ตลาดแรงงาน ทรงตัว ตามจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ใกล้เคียงเดิม


ปัจจัยที่ต้องติดตาม

- ความเข้มแข็งของการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนหลังหมดมาตรการภาครัฐ

- รายได้เกษตรที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง

- การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย

28 เมษายน 2566

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th