ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
31 พฤษภาคม 2566
แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนสิงหาคม 2566
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน
การอุปโภคบริโภค หดตัวต่อเนื่อง
ตามค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง และรายได้เกษตรที่หดตัวมากขึ้นกดดันการอุปโภคบริโภคโดยรวม ทำให้การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้ากึ่งคงทนหดตัว ประกอบกับความเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่งผลให้สินค้าคงทนหดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายสินค้าบริการขยายตัวจากปัจจัยพิเศษวันหยุดยาวต่อเนื่องจากเดือนก่อน
การลงทุนภาคเอกชน หดตัวมากขึ้น
ตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัวจากการนำเข้าสินค้าทุนสอดคล้องภาคการผลิตเพื่อการส่งออก และยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ทั้งรถกระบะและรถแทรกเตอร์ที่หดตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการลงทุนด้านก่อสร้างที่หดตัวจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ดี พื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างยังขยายตัวได้เล็กน้อยตามโครงการที่อยู่อาศัยที่ยังมีทยอยเปิดโครงการใหม่
การค้าผ่านด่านศุลกากร กลับมาหดตัว
การส่งออก หดตัว ตามอุปสงค์โลกที่ชะลอตัว โดยสินค้าชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ส่งไปจีนและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปเวียดนามที่ลดลง
การนำเข้า ชะลอลง จากหมวดเคมีภัณฑ์-ปิโตรเคมี และโทรศัพท์มือถือจากจีนที่หดตัว อย่างไรก็ดี การนำเข้ามันสำปะหลังจาก สปป.ลาว ขยายตัวสูง
รายได้เกษตรกร หดตัวมากขึ้น
ตามผลผลิตยางพาราที่หดตัวจากการชะลอกรีด เนื่องจากฝนตกต่อเนื่อง และมันสำปะหลังที่หดตัว จากผลของโรคใบด่างในบางพื้นที่ เช่นเดียวกับราคาโดยรวมหดตัวจากราคายางพาราที่หดตัวตามราคาของตลาดโลก ราคาสุกรที่หดตัวจากปัญหาการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ และราคาโคเนื้อที่หดตัวตามคำสั่งซื้อของประเทศเพื่อนบ้านจากการส่งเสริมการเลี้ยงในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าจากไทย
ภาคอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัวเล็กน้อย
จากการผลิตที่ขยายตัวตามคำสั่งซื้อยางพาราแปรรูปและน้ำตาลทรายขาวที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตเพื่อการส่งออก เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และเครื่องแต่งกายยังหดตัวตามอุปสงค์ต่างประเทศ
การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง (ปรับฤดูกาล)
ตามจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายรับจากนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อน จากการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาในหลายจังหวัดใหญ่ของอีสานใต้ที่จัดขึ้นในเดือนนี้แทนเดือนกรกฎาคมในปีก่อน สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน นอกจากนี้ ผู้เยี่ยมเยือนต่างชาติขยายตัวจากปีก่อน โดยเฉพาะจังหวัดในอีสานตอนบน
อัตราเงินเฟ้อ สูงขึ้น ตามราคาพลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะที่ราคาอาหารสดลดลงจากเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ ไข่ ผักและผลไม้
ตลาดแรงงาน ทรงตัว ตามจำนวนจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ใกล้เคียงเดิม ขณะที่ผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานมาตรา 38 ลดลง
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
- ผลกระทบของภัยแล้งต่อรายได้เกษตรกร จากปริมาณและการกระจายตัวของน้ำฝนที่น้อยกว่าปีก่อน
- นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล และการฟื้นตัวของการบริโภค
- การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
ธนาคารแห่งประเทศไทย
29 กันยายน 2566
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th