ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

30 พฤศจิกายน 2566

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนตุลาคม 2566

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงตัวจากเดือนก่อน
  • โดยในเดือนก่อน การอุปโภคบริโภคโดยรวมลดลง จากค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงและรายได้เกษตรที่หดตัวมากขึ้น แม้มีปัจจัยพิเศษวันหยุดยาว ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว แต่การผลิตเพื่อการส่งออกยังคงหดตัวจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
  • ในเดือนนี้ การอุปโภคบริโภคโดยรวมกลับมาขยายตัว จากการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงเทศกาล วันหยุดยาว และผลของฐานต่ำในปีก่อนที่เกิดอุทกภัยในบางพื้นที่ ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัว ตามการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกที่ยังหดตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
  • แนวโน้มเศรษฐกิจเดือนถัดไป คาดว่า ทรงตัวใกล้เคียงเดือนนี้ จากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ขณะที่มาตรการภาครัฐ เช่น เงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและมาตรการลดภาระค่าครองชีพ ช่วยพยุงการใช้จ่ายได้บ้าง

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน
 

การอุปโภคบริโภค กลับมาขยายตัว

ตามการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงเทศกาล วันหยุดยาว และผลของฐานต่ำในปีก่อนที่เกิดอุทกภัยในบางพื้นที่ ส่งผลให้การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าบริการขยายตัว ขณะที่สินค้าคงทนยังหดตัวต่อเนื่องจากความเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวน้อยลง

ตามการลงทุนด้านก่อสร้างที่ขยายตัวต่อเนื่องจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ยังขยายตัว ขณะที่การลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวตามการนำเข้าสินค้าทุนประเภทอะไหล่เครื่องจักร สอดคล้องกับภาคการผลิตเพื่อการส่งออกที่หดตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร กลับมาขยายตัว

การส่งออก หดตัว ตามการส่งออกไปสปป.ลาวที่ลดลงเป็นสำคัญในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะนมถั่วเหลือง และอาหารสำเร็จรูป 
การนำเข้า ขยายตัวใกล้เคียงเดิม ในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเคมีภัณฑ์จากจีน กอปรกับการนำเข้ามันสำปะหลังจาก สปป.ลาวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

รายได้เกษตรกร หดตัวต่อเนื่อง

จากผลผลิตยางพาราที่หดตัวเป็นสำคัญ ตามการชะลอกรีดบางพื้นที่เนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่อง ขณะที่ราคาทรงตัว จากราคาปศุสัตว์ที่ลดลงต่อเนื่อง แม้ราคาข้าวเปลือกจะยังขยายตัว

 

ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวชะลอลง

จากการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอ ที่ยังหดตัวตามความต้องการของประเทศคู่ค้า และการผลิตแป้งมันสำปะหลังที่หดตัวจากผลกระทบจากโรคใบด่าง ขณะที่การผลิตยางพาราแปรรูปและน้ำตาลทรายขาวขยายตัวตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น

 

การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง (ปรับฤดูกาล)

ตามจำนวนผู้เยี่ยมเยือนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อน สำหรับการท่องเที่ยวในเดือนนี้ขยายตัวจากการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว อาทิ Moto GP งานบั้งไฟพญานาค งานไหลเรือไฟ งานแห่ปราสาทผึ้ง และมีวันหยุดยาวหลายช่วง ส่งผลให้อัตราการเข้าพักยังสูงต่อเนื่อง

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามราคาอาหารสด เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และราคาพลังงาน 

 

ตลาดแรงงาน ลดลง ตามจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ลดลงเล็กน้อย สอดคล้องกับผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานตามมาตรา 38 ที่เพิ่มขึ้น

 

ปัจจัยที่ต้องติดตาม

- ผลกระทบของภัยแล้งต่อผลผลิตและรายได้เกษตรกร

- นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล

- การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
30 พฤศจิกายน 2566

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th

 

หมายเหตุ

สาขาเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่มีความสำคัญต่อภาคอีสาน ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้าผ่านด่านศุลกากร ตามลำดับ

ภาวะเศรษฐกิจการเงิน เดือนตุลาคม 2566