ประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

(Northeastern GRP Forecast)

29 ก.พ. 2567

ประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 66-67

ประมาณการรอบครึ่งปี ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567

เศรษฐกิจอีสาน ปี 66 หดตัวที่ -2.2 ถึง -1.2% ขณะที่ปี 67 ขยายตัวเล็กน้อยที่ -0.1 ถึง 0.9%

ปี 66 หดตัว จากภาคอุตสาหกรรมกลุ่มผลิตอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวเนื่องจากสินค้าคงคลังของคู่ค้ายังอยู่ในระดับสูงจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวช้า เช่นเดียวกับผลผลิตเกษตรที่หดตัวในพืชสำคัญ ทำให้กำลังซื้อในภาคการค้าลดลง ด้านภาคอสังหาริมทรัพย์หดตัวตามยอดขายที่เร่งไปในปีก่อนหน้า ประกอบกับสถาบันการเงินระมัดระวังการอนุมัติสินเชื่อ อย่างไรก็ดี ภาคก่อสร้างขยายตัวได้เล็กน้อยจากโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับอุปสงค์ระยะต่อไป

 

ปี 67 ขยายตัวเล็กน้อย จากภาคการค้าตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวช้าตามการฟื้นตัวของภาคอิเล็กทรอนิกส์ และผลผลิตเกษตรยังหดตัว เช่นเดียวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง บั่นทอนความสามารถในการซื้อและผ่อนชำระ

รายละเอียดทิศทางการเติบโตของกิจกรรมสำคัญ

(เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน)

 

เกษตร ลดลง

  • ปี 66 หดตัว จากผลผลิตมันสำปะหลังที่ลดลงจากโรคใบด่างที่ระบาดในพื้นที่ปลูกหลักอาทิ นครราชสีมา ชัยภูมิ ทำให้ผลผลิตเสียหายกว่าคาดมาก เช่นเดียวกับอ้อยซึ่งผลผลิตลดลงจากต้นทุนปุ๋ยแพง เกษตรกรจึงลดการใส่ปุ๋ยช่วงเพาะปลูกในปี 65 อย่างไรก็ดี ข้าวนาปีหดตัวน้อยกว่าประมาณการครั้งก่อนเล็กน้อย จากปริมาณฝนที่มากกว่าคาดช่วงปลายปี
  • ปี 67 หดตัวเล็กน้อย จากมันสำปะหลังที่ลดลงจากผลของโรคใบด่างต่อเนื่องจากปี 66  อย่างไรก็ดี ข้าวปรับดีขึ้นจากประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากสถานการณ์เอลนิโญปรับดีขึ้นในช่วงเพาะปลูกข้าวนาปี ปี 67 และข้าวนาปรังได้ผลดีจากน้ำในเขื่อนที่เพิ่มขึ้นจากปริมาณฝนที่มากกว่าคาดในปลายปี 66

 

อุตสาหกรรม ลดลง

  • ปี 66 หดตัว จากการผลิตกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด และสินค้าคงคลังที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการผลิตสินค้ากลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร ซึ่งหดตัวตามผลผลิตที่ลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย และข้าว
  • ปี 67 หดตัวเล็กน้อย จากการผลิตกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ฟื้นตัวช้า อย่างไรก็ดี การผลิตสินค้ากลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรโดยเฉพาะข้าวปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากผลของเอลนิโญที่รุนแรงน้อยกว่าคาด ขณะที่แป้งมันสำปะหลังลดลงจากผลของโรคใบด่าง

 

การค้า เพิ่มขึ้น

  • ปี 66 หดตัว จากกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว และค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น แต่ดีขึ้นกว่าประมาณการครั้งก่อนจากผลของมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐช่วงครึ่งปีหลังที่ช่วยพยุงการบริโภค และการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกี่ยวเนื่องกับวันช่วงหยุดยาวที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายมากขึ้น
  • ปี 67 ขยายตัวเล็กน้อย ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น และรายได้เกษตรกรที่ปรับดีขึ้นจากการประเมินครั้งก่อน ตามสถานการณ์เอลนิโญที่ปรับดีขึ้นในช่วงเพาะปลูกข้าว อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น ยังคงฉุดรั้งการใช้จ่ายปี 67

 

ก่อสร้าง เพิ่มขึ้น

  • ปี 66 ขยายตัว ตามโครงการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยที่ผู้ประกอบการทยอยเปิดโครงการใหม่ หลังจากที่เร่งระบายสต๊อกไปเมื่อปี 65 อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นการชะลอตัวของการก่อสร้างใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปี 66
  • ปี 67 ขยายตัวเล็กน้อย ตามการก่อสร้างภาครัฐที่ขยายตัว แต่ต่ำกว่าการประมาณการครั้งที่แล้ว จากผลของความล่าช้าของ พรบ. งบประมาณ ปี 67 กระทบการเบิกจ่ายงบลงทุนใหม่

 

อสังหาริมทรัพย์ ลดลง

  • ปี 66 หดตัว ตามอุปสงค์ที่อ่อนแอและมาตรการของภาครัฐที่หมดไป รวมถึงความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน แต่หดตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้จากอุปสงค์ในกลุ่มบนที่ราคาสูงกว่า 3 ล้านบาทยังขยายตัว
  • ปี 67 หดตัว จากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง กระทบกับความสามารถในการซื้อและการผ่อนชำระของกลุ่มที่ต้องการอสังหาริมทรัพย์ที่ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ในภาคอีสาน อย่างไรก็ดี อสังหาริมทรัพย์กลุ่มบนที่ราคาสูงกว่า 3 ล้านบาท ยังคงมีธุรกรรมซื้อขายใกล้เคียงกับปี 2566

 

 


หมายเหตุ :

  1) โครงสร้างเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 64 ประกอบด้วย เกษตร 20% อุตสาหกรรม 19% การค้า 13% ก่อสร้าง 4% อสังหาฯ 5% และอื่นๆ 39%
  2) กำหนดเผยแพร่ประมาณการผลิตภัณฑ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งต่อไป ในเดือนสิงหาคม 2567 (พร้อมประมาณการรายได้ครัวเรือนที่อยู่ระหว่างปรับปรุง)


ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, สำนักงานประกันสังคม, กรมศุลกากร, กรมสรรพสามิต, กรมสรรพากร, กรมการขนส่งทางบก, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, กรมธุรกิจพลังงาน, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กรมท่าอากาศยาน, ท่าอากาศยานไทย, GFMIS, กรมการปกครอง, กรมที่ดิน, The Nielsen Company, ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ คำนวณโดย ธปท.

ข้อมูลเพิ่มเติม

ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

0 7443 4890

FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th

ข้อมูลเพิ่มเติม

ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โทร .0 4391 3532

Neo-econ-div@bot.or.th