ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
29 กุมภาพันธ์ 2567
แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนมกราคม 2567
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว)
รายได้เกษตรกร กลับมาขยายตัว (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน)
ตามผลผลิตอ้อยที่ขยายตัว จากการเร่งเก็บเกี่ยวเพื่อให้ทันการปิดหีบ และราคาที่ขยายตัวต่อเนื่อง จากราคายางพาราที่ปรับเพิ่มขึ้นตามผลผลิตในประเทศลดลงจากผลกระทบของโรคใบร่วง และความต้องการนำวัตถุดิบไปใช้ผลิตยางล้อเพิ่มขึ้น และอ้อยตามราคาขั้นต้นที่ปรับสูงขึ้น
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวเล็กน้อย
ตามการผลิตยางพาราแปรรูป และเครื่องแต่งกายตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หดตัวตามรอบการผลิตและความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ยังชะลอตัว
ภาคบริการท่องเที่ยว หดตัวเล็กน้อย
ตามจำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยที่ลดลงจากการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวที่เร่งไปในช่วงวันหยุดยาวปลายปีและการจัดงานประชุมสัมมนาของภาครัฐที่ลดลงตามการจัดทำงบประมาณประจำปีที่ล่าช้า ส่งผลให้อัตราการเข้าพักแรมลดลง
การอุปโภคบริโภค กลับมาหดตัว
ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคกึ่งคงทนและบริการที่หดตัวหลังจากเร่งไปในช่วงวันหยุดยาวปลายปี และค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังกดดันการบริโภคโดยรวม ขณะที่สินค้าคงทนกลับมาขยายตัวชั่วคราวหลังจากหดตัวสูงในเดือนก่อน ตามรอบการส่งมอบรถเพื่อจดทะเบียนหลังวันหยุดยาว
การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง
ตามการลงทุนด้านก่อสร้างที่กลับมาหดตัวจากพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างและยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่หดตัว ขณะที่การลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ขยายตัวเล็กน้อยจากยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่กลับมาขยายตัวชั่วคราวและการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้น
การค้าผ่านด่านศุลกากร ขยายตัวเล็กน้อย
การส่งออก กลับมาหดตัว ในหมวดชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ที่เร่งผลิตไปเมื่อปลายปี และทุเรียนนอกฤดูกาลที่ผลผลิตลดลง
การนำเข้า ขยายตัว ในสินค้ามันสำปะหลังจากสปป.ลาว และโทรศัพท์มือถือจากเวียดนาม
อัตราเงินเฟ้อ ลดลงต่อเนื่อง (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และอาหารสด
ตลาดแรงงาน ทรงตัว ตามจำนวนผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่ลดลง สอดคล้องกับจำนวนผู้ขอสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานใหม่มาตรา 38 ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกันตน มาตรา 40 ในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระเพิ่มขึ้น
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
- รายได้เกษตรที่จะช่วยพยุงการบริโภค
- นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล
- การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
ธนาคารแห่งประเทศไทย
29 กุมภาพันธ์ 2567
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th
หมายเหตุ :
สาขาเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่มีความสำคัญต่อภาคอีสาน ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้าผ่านด่านศุลกากร ตามลำดับ