ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

29 มีนาคม 2567

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนกุมภาพันธ์ 2567

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคอีสาน ขยายตัวจากเดือนก่อน
  • ในเดือนก่อน การอุปโภคบริโภคที่กลับมาหดตัวสูง เช่นเดียวกับภาคบริการท่องเที่ยวที่ชะลอลง หลังจากเร่งไปในช่วงวันหยุดยาวปลายปี อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรขยายตัวดีและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับดีขึ้นตามคำสั่งซื้อในบางสินค้า
  • เดือนนี้ การอุปโภคบริโภคจากหมวดสินค้าในชีวิตประจำวันที่ขยายตัว จากการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงวันหยุดยาว เทศกาล ประเพณี และรายได้เกษตรที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีช่วยพยุงการบริโภค ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาหดตัวหลังจากเร่งผลิตไปในเดือนก่อน

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว)
 

รายได้เกษตรกร ขยายตัวต่อเนื่อง (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน)

จากราคายางพาราที่เพิ่มขึ้น ตามผลผลิตในประเทศที่ลดลงจากผลกระทบโรคใบร่วง และความต้องการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันรับซื้อ และอ้อยจากราคาขั้นต้นที่ปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ด้านผลผลิตโดยรวมหดตัว

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรม กลับมาหดตัว

ตามการผลิตยางพาราแปรรูปและสิ่งทอที่หดตัวหลังจากเร่งผลิตไปในเดือนก่อน ขณะที่การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวตามรอบการผลิต

 

ภาคบริการท่องเที่ยว กลับมาขยายตัว

ตามผู้เยี่ยมเยือนทั้งคนไทยและต่างชาติที่เพิ่มขึ้น จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องในหลายจังหวัด เช่น งานคอนเสิร์ต งานบุญประเพณี งานเทศกาลตรุษจีน งานวิ่ง และงานเทศกาลดนตรี เป็นต้น และวันหยุดยาวมาฆบูชา

 

การอุปโภคบริโภค กลับมาขยายตัว

ตามการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจช่วงตรุษจีน วันหยุดยาว ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันและสินค้าหมวดบริการขยายตัว ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนหดตัวจากคุณสมบัติผู้กู้ที่ด้อยลงและสถาบันการเงินระมัดระวังในการให้สินเชื่อ สำหรับมาตรการ Easy e-Receipt ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายสินค้ากึ่งคงทนได้เล็กน้อย

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง

ตามการลงทุนด้านก่อสร้างที่หดตัวต่อเนื่อง ทั้งพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างและยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ขณะที่การลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้น ยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง และยอดจดทะเบียนรถแทรกเตอร์ที่กลับมาขยายตัวชั่วคราว

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร กลับมาหดตัว

ตามการนำเข้าที่หดตัวจากจีนและสปป. ลาวในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะแผงวงจรรวมที่ลดลงหลังจากเร่งไปในเดือนก่อน รวมถึงโทรศัพท์มือถือจากเวียดนามที่ลดลง
ขณะที่การส่งออกขยายตัวเล็กน้อย ตามการส่งออกเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมีไปไต้หวัน สปป. ลาว และจีนที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

 

อัตราเงินเฟ้อ ติดลบน้อยลง (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และอาหารสด

 

ตลาดแรงงาน ปรับลดลง ตามทิศทางการชะลอลงของการจ้างงานในภาคบริการ การค้า และก่อสร้าง ส่วนหนึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ลดลง

 

ปัจจัยที่ต้องติดตาม

- รายได้เกษตรที่จะช่วยพยุงการบริโภค

- นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล

- การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
29 มีนาคม 2567

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th

 

หมายเหตุ

สาขาเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่มีความสำคัญต่อภาคอีสาน ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้าผ่านด่านศุลกากร ตามลำดับ