ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
30 เมษายน 2567
แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนมีนาคม 2567
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว)
รายได้เกษตรกร กลับมาหดตัว (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน)
ตามผลผลิตอ้อยเข้าหีบที่หดตัวจากผลของเอลนีโญ และมันสำปะหลังที่หดตัวจากโรคใบด่าง ขณะที่ราคาขยายตัวต่อเนื่อง จากราคายางพาราตามผลผลิตในประเทศที่ลดลง ประกอบกับความต้องการปรับดีขึ้นจากปีก่อน
การผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัวต่อเนื่อง
ตามผลผลิตน้ำตาลที่หดตัวจากผลผลิตอ้อยที่ลดลงหลังได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้โรงงานเร่งหีบในช่วงก่อนหน้า และยางพาราแปรรูปหดตัว ตามการชะลอคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าจากราคาที่อยู่ในระดับสูง
ภาคบริการท่องเที่ยว ทรงตัวในระดับสูง
ตามผู้เยี่ยมเยือนคนไทยเป็นสำคัญ ขณะที่ผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติขยายตัว จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน จ.อุบลราชธานี ที่มีการจัดงานสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานทั้งชาวไทยและชาวลาว กว่า 800,000 คนทำให้อัตราการเข้าพักแรมเพิ่มขึ้น
การบริโภคภาคเอกชน กลับมาหดตัว
ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคที่กลับมาหดตัวสูงจากเดือนก่อน หลังเร่งใช้จ่ายในเดือนก่อนที่เป็นช่วงตรุษจีนและวันหยุดยาว สินค้าคงทนหดตัวต่อเนื่องจากความระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน และคุณสมบัติของผู้กู้ที่ด้อยลง ขณะที่หมวดสินค้าบริการขยายตัวต่อเนื่อง ตามการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองหลัก
การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง
ตามการลงทุนด้านการก่อสร้างที่หดตัวต่อเนื่อง ทั้งพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างและยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ขณะที่การลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ขยายตัวต่อเนื่องทั้งการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้นจากยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศและยอดจดทะเบียนรถแทรกเตอร์ที่ขยายตัว
การค้าผ่านด่านศุลกากร หดตัวต่อเนื่อง
ตามการส่งออกที่หดตัว จากกัมพูชา ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เนื้อปลาบดแช่แข็งและผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์สำเร็จรูปเป็นสำคัญ
เช่นเดียวกับการนำเข้าที่หดตัว จาก สปป. ลาว และกัมพูชา ในหมวดสินค้ามันสำปะหลังที่มีการนำเข้าลดลง หลังจากที่เร่งนำเข้าสูงในเดือนก่อน เพื่อทดแทนผลผลิตในประเทศที่เกิดโรคใบด่าง
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ติดลบน้อยลง (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และอาหารสด
ตลาดแรงงาน ทรงตัว ตามทิศทางการชะลอตัวของการจ้างงานในภาคผลิต ก่อสร้าง ส่วนหนึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตน ม.33 อย่างไรก็ดี จากการท่องเที่ยว ส่งผลให้การจ้างงานภาคบริการและการค้ามีทิศทางปรับดีขึ้นบ้าง
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
- ผลกระทบของเอลนีโญต่อภาคเกษตร
- นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล
- การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
- การเบิกจ่ายหลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 บังคับใช้
ธนาคารแห่งประเทศไทย
30 เมษายน 2567
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th
หมายเหตุ :
สาขาเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่มีความสำคัญต่อภาคอีสาน ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้าผ่านด่านศุลกากร ตามลำดับ