ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
28 มิถุนายน 2567
แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนพฤษภาคม 2567
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว)
รายได้เกษตรกร ขยายตัวต่อเนื่อง (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน)
ตามราคายางพาราที่ขยายตัวต่อเนื่อง จากผลผลิตที่ลดลงหลังได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ ประกอบกับความต้องการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตยางล้อที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ผลผลิตโดยรวมหดตัวต่อเนื่อง
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่อง
ตามการผลิตเพื่อการส่งออกในหมวดน้ำตาลทรายขาว และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวตามคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้า ขณะที่ยางพาราแปรรูปหดตัวตามผลผลิตที่ลดลงจากผลของภัยแล้งในช่วงก่อนหน้า
ภาคบริการท่องเที่ยว กลับมาหดตัว
ทั้งผู้เยี่ยมเยือนคนไทยและต่างชาติ หลังเร่งไปในเดือนก่อน จึงทำให้นักท่องเที่ยวหดตัวลง ส่งผลให้อัตราการเข้าพักแรมลดลง สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานและเที่ยวบินขาเข้าที่ลดลง อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ตามการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี
การบริโภคภาคเอกชน กลับมาหดตัว
หลังเร่งใช้จ่ายสูงในช่วงวันหยุดยาวและเทศกาลสงกรานต์ ทำให้การบริโภคสินค้าในชีวิตประจำวันและกึ่งคงทนหดตัว สำหรับสินค้าคงทนหดตัว จากความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินและคุณสมบัติของผู้กู้ที่ด้อยลง ขณะที่สินค้าบริการขยายตัวต่อเนื่อง ตามการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในช่วงวันหยุดยาว
การลงทุนภาคเอกชน กลับมาหดตัว
ตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัวทุกองค์ประกอบ ทั้งการนำเข้าสินค้าทุน ยอดจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ และยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ รวมทั้งการลงทุนด้านก่อสร้างที่หดตัว ตามยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ ยกเว้นพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างเพื่อการอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ตามจำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ
การค้าผ่านด่านศุลกากร ขยายตัวต่อเนื่อง
ตามการส่งออกที่ขยายตัว จากจีน ในสินค้าทุเรียนสด และหมวดชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เป็นสำคัญ ตามฤดูเก็บเกี่ยวในภาคตะวันออก และความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับการนำเข้าที่ขยายตัว จากจีน ในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์เป็นสำคัญ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพิ่มขึ้น (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) ตามราคาพลังงาน น้ำมันเชื้อเพลิง ผักสดและผลไม้สด
ตลาดแรงงาน ทรงตัว ตามจำนวนผู้มีงานทำในภาคเกษตรที่ลดลง ขณะที่แรงงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ปรับเพิ่มขึ้น ตามความต้องการแรงงานในภาคการผลิต การท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว และหน่วยงานภาครัฐ หลังการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
- การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ
- ความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตในตลาดโลก
- ผลผลิตภาคเกษตรจากผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
28 มิถุนายน 2567
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th
หมายเหตุ :
สาขาเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่มีความสำคัญต่อภาคอีสาน ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้าผ่านด่านศุลกากร ตามลำดับ