ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

31 กรกฎาคม 2567

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนมิถุนายน 2567

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคอีสานหดตัวต่อเนื่อง จากเดือนก่อน
  • ในเดือนก่อน การบริโภคภาคเอกชนและภาคบริการท่องเที่ยวกลับมาหดตัว หลังเร่งไปในช่วงวันหยุดยาวและเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่รายได้เกษตรกรขยายตัวและการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้น ตามคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวในบางกลุ่มอุตสาหกรรม ยังไม่เพียงพอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง 
  • เดือนนี้ การใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวจากค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงทำให้กลุ่มครัวเรือนฐานรากระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น และภาคบริการท่องเที่ยวที่หดตัวหลังหมดแรงส่งของเทศกาล วันหยุดยาว ขณะที่รายได้เกษตรกรและการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง ตามความต้องการทั้งจากภายในและต่างประเทศ

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว)
 

รายได้เกษตรกร ขยายตัวต่อเนื่อง (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน)

ตามราคายางพาราที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการใช้ผลิตยางล้อที่อยู่ในระดับสูง ข้าวเปลือกจากความต้องการบริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ และไข่ไก่จากผลกระทบของสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง สอดคล้องกับผลผลิตเกษตรโดยรวมยังคงหดตัว

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่อง

ตามการผลิตน้ำตาลทรายที่ขยายตัวตามการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่ขยายตัวตามโครงการก่อสร้างภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้น และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวตามคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้า ขณะที่การผลิตแป้งมันสำปะหลังหดตัว

 

ภาคบริการท่องเที่ยว หดตัวต่อเนื่อง

ทั้งผู้เยี่ยมเยือนคนไทยและต่างชาติ หลังหมดแรงส่งของเทศกาลและวันหยุดยาว กอปรกับการจัดประชุมสัมมนาของภาครัฐที่อยู่ในระดับต่ำสอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานและเที่ยวบินขาเข้าที่ลดลง ทำให้อัตราการเข้าพักแรมหดตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อน

 

การบริโภคภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง

โดยสินค้าอุปโภคบริโภคและกึ่งคงทนหดตัวต่อเนื่อง จากค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงทำให้ผู้บริโภคกลุ่มครัวเรือนฐานรากระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น สินค้าคงทนหดตัวต่อเนื่อง จากความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และสินค้าบริการกลับมาหดตัวตามการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ทยอยหมดลง

 

การลงทุนภาคเอกชน ทรงตัว

ตามการลงทุนด้านก่อสร้างที่กลับมาขยายตัวจากพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้าง สำหรับยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวต่อเนื่อง ทั้งการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขณะที่ยอดจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ขยายตัวเล็กน้อย

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร หดตัว

ตามการส่งออกที่หดตัว จากการสินค้าทุเรียนสดเป็นสำคัญ ที่ปรับลดลง จากผลผลิตตามฤดูกาลที่น้อยลงของทุเรียนในภาคตะวันออก รวมทั้งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัว

ขณะที่การนำเข้าที่ขยายตัว จากจีนเป็นสำคัญ ในหมวดชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ รวมถึงหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ลดลง (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) ตามราคาพลังงาน และผักสด

 

ตลาดแรงงาน ปรับลดลงเล็กน้อย ตามความต้องการแรงงานในภาคบริการและการผลิตที่ลดลงหลังจากเร่งไปในเดือนก่อน ขณะที่แรงงานก่อสร้างปรับดีขึ้นเล็กน้อย ตามพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างและการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวัน สะท้อนถึงความเปราะบางของตลาดแรงงานที่มากขึ้น

 

ปัจจัยที่ต้องติดตาม

- กำลังซื้อของกลุ่มครัวเรือนฐานราก

- ความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตในตลาดโลก

- อิทธิพลของลานีญาต่อผลผลิตภาคเกษตร

 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
31 กรกฎาคม 2567

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th

 

หมายเหตุ

สาขาเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่มีความสำคัญต่อภาคอีสาน ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้าผ่านด่านศุลกากร ตามลำดับ