ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
30 กันยายน 2567
แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนสิงหาคม 2567
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว)
รายได้เกษตรกร ขยายตัวชะลอลง (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน)
ตามราคาราคาข้าวเปลือกที่ชะลอตัวจากความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ลดลงหลังเร่งไปมากในเดือนก่อน และราคามันสำปะหลังที่ชะลอตัวจากความต้องการนำเข้ามันเส้นของจีนเพื่อทดแทนข้าวโพดลดลง หลังจากผลผลิตข้าวโพดในจีนเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตโดยรวมทรงตัว
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่อง
ตามการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ การผลิตน้ำตาลทรายขยายตัวตามปริมาณการส่งออกน้ำตาลไปยังสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้น และการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวตามรอบการผลิต
ภาคบริการท่องเที่ยว กลับมาหดตัว
ตามจำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยที่หดตัวเป็นสำคัญ สะท้อนจากจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานขาเข้าที่หดตัว สอดคล้องกับกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ลดลงหลังเร่งไปมากในเดือนก่อน ทำให้อัตราการเข้าพักแรมลดลง อย่างไรก็ดี ในเมืองท่องเที่ยวหลักมีการจัดประชุมสัมมนาของภาครัฐเพิ่มขึ้น
การบริโภคภาคเอกชน กลับมาหดตัว
ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่หดตัวสูง จากความระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินและคุณสมบัติของผู้กู้ที่ด้อยลง ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภค กึ่งคงทน และบริการทรงตัว จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของกลุ่มครัวเรือนฐานรากอย่างต่อเนื่อง
การลงทุนภาคเอกชน ทรงตัว
ตามการลงทุนด้านก่อสร้างที่ขยายตัว จากยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์เป็นสำคัญ ขณะที่การลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัว จากยอดการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัว ทั้งนี้ หากขจัดผลของปัจจัยพิเศษจากการกลับมาเบิกจ่ายของภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชนจะหดตัวต่อเนื่อง
การค้าผ่านด่านศุลกากร ขยายตัวเล็กน้อย
ตามการส่งออกที่ขยายตัว จากจีนเป็นสำคัญ ในหมวดชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ประเภทฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์
ขณะที่การนำเข้าหดตัว จากจีนเป็นสำคัญ ในหมวดเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี ประเภทก๊าซไฮโดรเจนและอโลหะ รวมทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ หลังจากเร่งไปในช่วงก่อนหน้า
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ลดลง (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) ตามราคาพลังงานที่ลดลง
ตลาดแรงงาน ทรงตัว ตามการจ้างงานในภาคผลิตและบริการที่ปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตน ม. 33 ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การจ้างงานในภาคเกษตรปรับลดลง
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
- กำลังซื้อของกลุ่มครัวเรือนฐานราก
- ผลกระทบของสภาพภูมิอากาศและอุทกภัยต่อผลผลิตในภาคเกษตร
- นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
30 กันยายน 2567
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th
หมายเหตุ :
สาขาเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่มีความสำคัญต่อภาคอีสาน ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้าผ่านด่านศุลกากร ตามลำดับ