ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
29 พฤศจิกายน 2567
แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนตุลาคม 2567
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว)
รายได้เกษตรกร ขยายตัว (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน)
ตามราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิที่ขยายตัว จากความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ยังมีต่อเนื่อง หลังผลผลิตข้าวขาดแคลนจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน และราคายางพาราที่ขยายตัว จากผลกระทบมรสุมในภาคใต้ทำให้กรีดยางได้ลดลง ขณะที่ผลผลิตโดยรวมทรงตัว
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่อง
ตามการผลิตเพื่อการส่งออกที่มีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง อาทิ การผลิตน้ำตาลทรายที่ขยายตัวตามการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา และการผลิตยางพาราแปรรูปในหมวดยางผสมส่งออกไปยังจีนที่ขยายตัวความต้องการนำไปผลิตยางล้อรถยนต์ไฟฟ้าจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศจีน
ภาคบริการท่องเที่ยว กลับมาขยายตัว
ตามจำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยและชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น จากวันหยุดยาว เทศกาลและงานบุญประเพณี ประกอบกับการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารและจำนวนเที่ยวบินขาเข้าที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกสนามบิน ส่งผลให้อัตราการเข้าพักแรมปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน
การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวต่อเนื่อง
จากแรงส่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ (เงินโอน 10,000 บาท) โดยเฉพาะยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์และยอดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือที่ขยายตัวสูงตามการรวบรวมเงินที่ได้รับจากมาตรการฯ มาซื้อและผ่อนชำระเพื่อใช้งานภายในครอบครัว
การลงทุนภาคเอกชน กลับมาขยายตัว
ตามการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ ส่งผลให้การลงทุนด้านก่อสร้างขยายตัวจากยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากขจัดผลของปัจจัยพิเศษ จากการกลับมาเบิกจ่ายของภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวต่อเนื่อง
การค้าผ่านด่านศุลกากร ทรงตัว
ตามการนำเข้าที่ขยายตัว จากจีนเป็นสำคัญ ในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ประเภทฮาร์ดดิสก์ และแล็ปท็อป
ขณะที่การส่งออกที่หดตัวเล็กน้อย ตามการส่งออกไปจีน ในหมวดชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ประเภทฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หลังจากเร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า และการส่งออกทุเรียนสดที่หดตัวต่อเนื่อง หลังฤดูกาลผลผลิตทุเรียนของภาคใต้ทยอยหมดลง
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพิ่มขึ้น (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) ตามราคาอาหารสด อาหารสำเร็จรูป และหมวดพลังงาน
ตลาดแรงงาน ปรับดีขึ้น ตามการจ้างงานในภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้นช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรทรงตัว อย่างไรก็ดี ภาคการค้ามีแนวโน้มต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการขยายสาขาธุรกิจ
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
- ผลของมาตรการภาครัฐด้านเศรษฐกิจ
- ผลการเบิกจ่ายงบผูกพันของภาครัฐ
- สถานการณ์สินค้าโภคภัณฑ์เกษตรในตลาดโลก
ธนาคารแห่งประเทศไทย
29 พฤศจิกายน 2567
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th
หมายเหตุ :
สาขาเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่มีความสำคัญต่อภาคอีสาน ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้าผ่านด่านศุลกากร ตามลำดับ