ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

27 ธันวาคม 2567

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนพฤศจิกายน 2567

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคอีสานกลับมาหดตัว จากเดือนก่อน
  • ในเดือนก่อน กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวจากปัจจัยพิเศษ ทั้งแรงส่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง และวันหยุดยาว เทศกาล งานบุญประเพณี ช่วยกระตุ้นการบริโภคและภาคบริการท่องเที่ยวให้ขยายตัว ด้านภาคการผลิตเพื่อการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง ตามการผลิตน้ำตาลทรายและการผลิตยางพาราแปรรูป กอปรกับรายได้เกษตรที่ขยายตัวจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
  • เดือนนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมกลับมาหดตัว จากผลของแรงส่งมาตรการเงินโอนภาครัฐที่ลดลงหลังเร่งขึ้นชั่วคราวในช่วงก่อนหน้า ส่งผลให้การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคกลับมาหดตัว อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวต่อเนื่องช่วยพยุงการบริโภค ขณะที่ภาคบริการท่องเที่ยวยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ตามการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวที่มีอย่างต่อเนื่อง

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว)
 

รายได้เกษตรกร ขยายตัวต่อเนื่อง (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน)

ตามราคาข้าวเปลือกที่ขยายตัว จากความต้องการเร่งนำเข้าของประเทศคู่ค้าที่ยังมีต่อเนื่องเพื่อเก็บสำรองก่อนวันหยุดยาว กอปรกับราคายางพาราที่ขยายตัว จากผลผลิตที่ลดลงหลังภาคใต้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทำให้กรีดยางได้น้อยลง ขณะที่ผลผลิตโดยรวมทรงตัว

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรม กลับมาหดตัว

ตามการผลิตน้ำตาลทรายขาวที่หดตัวสูงเป็นสำคัญ จากปริมาณน้ำตาลทรายดิบคงคลังที่เหลือน้อยหลังจากการเร่งผลิตเพื่อการส่งออกในช่วงก่อนหน้า

 

ภาคบริการท่องเที่ยว ทรงตัวในระดับสูง

ตามจำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยยังเห็นการจัดเทศกาล งานบุญประเพณี และกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้อัตราการเข้าพักแรมใกล้เคียงกับเดือนก่อน

 

การบริโภคภาคเอกชน กลับมาหดตัว

ตามผลของแรงส่งมาตรการเงินโอนภาครัฐ (10,000 บาท) ที่ลดลงหลังเร่งขึ้นชั่วคราวในช่วงก่อน ส่งผลให้การใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าคงทน และสินค้ากึ่งคงทนกลับมาหดตัว ขณะที่การใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง ตามการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลและงานบุญประเพณี 

 

การลงทุนภาคเอกชน ทรงตัว

ตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง จากยอดจำหน่ายเครื่องจักรภายในประเทศ และยอดการนำเข้าสินค้าทุน อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้านการก่อสร้างกลับมาหดตัว จากพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างที่หดตัวมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย 

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร ขยายตัวต่อเนื่อง

ตามการส่งออกที่ขยายตัว จากจีนเป็นสำคัญ ในหมวดชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ประเภทฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และการส่งออกไป สปป.ลาว ในหมวดเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี
เช่นเดียวกับการนำเข้าที่ขยายตัว จากจีนเป็นสำคัญ ในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และโทรศัพท์มือถือ

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ลดลงจากเดือนก่อน ตามราคาอาหารสดเป็นสำคัญ

 

ตลาดแรงงาน ทรงตัว ตามการจ้างงานในภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้นในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ขณะที่ภาคการค้าปรับลดลง  อย่างไรก็ดี ภาคบริการท่องเที่ยวยังมีความต้องการแรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงปลายปี

 

ปัจจัยที่ต้องติดตาม

- รายได้เกษตรกรที่ช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายหลังแรงส่งจากมาตรการเงินโอนเริ่มหมดลง

- การเบิกจ่ายงบผูกพันของภาครัฐ

- แรงส่งของการท่องเที่ยวจากปัจจัยสนับสนุนด้านสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นและการจัดกิจกรรมในพื้นที่

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
27 ธันวาคม 2567

 

หมายเหตุ

สาขาเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่มีความสำคัญต่อภาคอีสาน ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้าผ่านด่านศุลกากร ตามลำดับ

ข้อมูลเพิ่มเติม

ส่วนเศรษฐกิจการเงินภาค สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

043 913 532

Neo-econ-div@bot.or.th