ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

31 มีนาคม 2568

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนกุมภาพันธ์ 2568

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคอีสานทรงตัว จากเดือนก่อน
  • ในเดือนก่อน กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมทรงตัว ตามรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวเล็กน้อย จากปัจจัยด้านผลผลิตเป็นสำคัญ และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน และภาคบริการท่องเที่ยวกลับมาหดตัว หลังเร่งไปในช่วงเทศกาลและวันหยุดยาวสิ้นปี
  • เดือนนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมทรงตัว ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ทรงตัว ขณะที่รายได้เกษตรกรและการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาหดตัว หลังจากเร่งไปในเดือนก่อน รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภาคบริการท่องเที่ยวขยายตัวตามการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว สภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และการจัดประชุมสัมมนาของภาครัฐ

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว)
 

รายได้เกษตรกร กลับมาหดตัว (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน)

ตามราคามันสำปะหลังที่หดตัว จากความต้องการซื้อของประเทศคู่ค้าที่ลดลงต่อเนื่อง และราคาอ้อยที่หดตัว ตามราคาขั้นต้นที่ปรับลดลง เช่นเดียวกับผลผลิตหดตัว จากอ้อยที่ลดลง หลังจากการเร่งเก็บเกี่ยวเพื่อให้ทันการเข้าหีบของโรงงานน้ำตาลในเดือนก่อน

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรม กลับมาหดตัว

ตามการผลิตหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เร่งไปในเดือนก่อน และกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปโดยเฉพาะการผลิตน้ำตาลที่เร่งไปในช่วงก่อนหน้า เพื่อชดเชยสินค้าคงคลังที่ลดลงช่วงเทศกาลและวันหยุดยาวในเดือนก่อน

 

ภาคบริการท่องเที่ยว กลับมาขยายตัว

ตามจำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยเป็นสำคัญ จากกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะใน จ.กาฬสินธุ์ จ.มหาสารคาม (การท่องเที่ยวเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์) และ จ.บุรีรัมย์ (งาน Moto GP) กอปรกับสภาพอากาศที่หนาวเย็น ช่วยสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น รวมทั้งการจัดประชุมสัมมนาภาครัฐที่เพิ่มขึ้น

 

การบริโภคภาคเอกชน ทรงตัว

ตามผลของมาตรการเงินโอน 10,000 บาท (เฟส 2) ผ่านผู้สูงอายุ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคให้ขยายตัวเล็กน้อย ขณะที่สินค้าคงทนกลับมาหดตัว หลังจากเร่งไปในเดือนก่อนตามรอบการจดทะเบียนรถ

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง

ตามการลงทุนด้านการก่อสร้างที่หดตัวต่อเนื่อง ทั้งพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างและยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ เช่นเดียวกับการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัวต่อเนื่อง ทั้งยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ยอดการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจำหน่ายเครื่องจักรภายในประเทศ

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร ขยายตัวต่อเนื่อง

ตามการส่งออกที่ขยายตัว ในหมวดชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงทุเรียนสดไปจีน 
เช่นเดียวกับการนำเข้าที่ขยายตัว ในหมวดมันสำปะหลังและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จาก สปป. ลาว รวมทั้งโทรศัพท์มือถือจากเวียดนาม

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ลดลงจากเดือนก่อน ตามราคาพลังงานเป็นสำคัญ

 

ตลาดแรงงาน ปรับลดลง ตามการชะลอตัวของการจ้างงานในภาคเกษตร ภาคการผลิตหมวดชิ้นส่วนยานยนต์ และหมวดอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี การจ้างงานในภาคบริการปรับดีขึ้น ตามสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ขยายตัว

 

ปัจจัยที่ต้องติดตาม

- ทิศทางราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก

- สถานการณ์การบริโภคสินค้าคงทน

- ผลการเบิกจ่ายงบผูกพันของภาครัฐ

- ผลกระทบจากนโยบายกีดกันการค้า Trump 2.0

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
31 มีนาคม 2568

 

หมายเหตุ

สาขาเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่มีความสำคัญต่อภาคอีสาน ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้าผ่านด่านศุลกากร ตามลำดับ

ข้อมูลเพิ่มเติม

ส่วนเศรษฐกิจการเงินภาค สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

043 913 532

Neo-econ-div@bot.or.th