ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
30 เมษายน 2568
แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนมีนาคม 2568
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว)
รายได้เกษตรกร กลับมาขยายตัว (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน)
ตามผลผลิตที่ขยายตัว จากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย ช่วยให้ผลผลิตอ้อยและข้าวนาปรังเพิ่มขึ้น ขณะที่ด้านราคาหดตัวต่อเนื่องจากราคามันสำปะหลังที่หดตัว ตามความต้องการซื้อของประเทศคู่ค้าที่ลดลง และราคาอ้อยที่หดตัว ตามราคาขั้นต้นที่ปรับลดลง
การผลิตภาคอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัว
ตามการผลิตแปรรูปสินค้าเกษตรที่ขยายตัวจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการผลิตน้ำตาลและสีข้าวเปลือกนาปรัง รวมทั้งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่กลับมาขยายตัวตามคำสั่งซื้อ และการผลิตเครื่องดื่มที่ขยายตัวตามการเร่งผลิตเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงเทศกาลและวันหยุดยาวเดือนเมษายน
ภาคบริการท่องเที่ยว1 กลับมาหดตัว
ทั้งผู้เยี่ยมเยือนคนไทยและต่างชาติ หลังจากเร่งไปในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี จำนวนผู้เยี่ยมเยือนยังคงอยู่ในระดับสูง ตามการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และการจัดประชุมสัมมนาภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราการเข้าพักแรมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน
การบริโภคภาคเอกชน กลับมาหดตัว
ตามกำลังซื้อที่ฟื้นตัวช้า ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และความระมัดระวังในการใช้จ่ายของผู้บริโภค ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคหดตัวในทุกหมวดสินค้า
การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง
ตามการลงทุนด้านการก่อสร้างที่หดตัวต่อเนื่อง จากพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้าง เช่นเดียวกับการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัวต่อเนื่อง จากยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ และยอดจำหน่ายเครื่องจักรภายในประเทศ
การค้าผ่านด่านศุลกากร กลับมาหดตัว
ตามการส่งออกที่หดตัว ในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ไปเวียดนามที่ลดลง หลังจากเร่งไปในเดือนก่อน
ขณะที่การนำเข้าที่ขยายตัว ในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากจีน และโทรศัพท์ มือถือจากเวียดนามที่เพิ่มขึ้น
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ลดลงจากเดือนก่อน ตามราคาพลังงานเป็นสำคัญ
ตลาดแรงงาน ปรับลดลงเล็กน้อย ตามการจ้างงานในภาคก่อสร้างและภาคการผลิตที่ปรับลดลง ขณะที่การจ้างงานในภาคเกษตรทรงตัว
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
- นโยบายการค้าระหว่างประเทศของประเทศคู่ค้า
- ผลของมาตรการภาครัฐต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน
- ทิศทางราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก
ธนาคารแห่งประเทศไทย
30 เมษายน 2568
หมายเหตุ :
สาขาเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่มีความสำคัญต่อภาคอีสาน ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้าผ่านด่านศุลกากร ตามลำดับ
1 ภาคบริการท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงเครื่องชี้เพื่อให้สะท้อนภาวะมากยิ่งขึ้น