ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

30 มิถุนายน 2568

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนพฤษภาคม 2568

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคอีสานกลับมาหดตัว จากเดือนก่อน
  • ในเดือนก่อน กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมกลับมาขยายตัว ตามการบริโภคภาคเอกชนที่กลับมาขยายตัวในช่วงวันหยุดยาวและเทศกาลสงกรานต์ สอดคล้องกับภาคบริการท่องเที่ยวที่ขยายตัวตามการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย ช่วยสนับสนุนการบริโภค ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาหดตัวหลังเร่งผลิตไปในเดือนก่อน
  • เดือนนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมกลับมาหดตัว ตามการบริโภคภาคเอกชนที่กลับมาหดตัว หลังเร่งไปในช่วงวันหยุดยาวและเทศกาลสงกรานต์ สอดคล้องกับภาคบริการท่องเที่ยวที่กลับมาหดตัว ขณะที่รายได้เกษตรกรชะลอลงตามผลผลิตข้าวนาปรังที่เร่งเก็บเกี่ยวไปในเดือนก่อน ช่วยสนับสนุนการบริโภคได้น้อยลง ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวตามการเร่งผลิตเพื่อส่งออกก่อนการบังคับใช้มาตรการภาษีของสหรัฐฯ 

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว)
 

รายได้เกษตรกร ชะลอตัว (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน)

ตามผลผลิตข้าวนาปรังที่ชะลอตัวหลังเร่งเก็บเกี่ยวไปในเดือนก่อน ขณะที่ด้านราคาหดตัวต่อเนื่อง จากราคายางพาราที่หดตัวตามทิศทางของราคาในตลาดโลก จากความกังวลผลกระทบมาตรการภาษีของสหรัฐฯ และราคามันสำปะหลังที่หดตัวตามความต้องการซื้อของต่างประเทศที่ลดลงต่อเนื่องและผลผลิตของประเทศเพื่อนบ้านที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น กดดันราคารับซื้อในประเทศ

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัว

ตามการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวจากการเร่งผลิตเพื่อส่งออก ก่อนการบังคับใช้มาตรการภาษีของสหรัฐฯ การผลิตน้ำตาลทรายขาวและยางพาราแปรรูป ตามคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้า ขณะที่การสีข้าวหดตัวตามผลผลิตข้าวนาปรังที่ลดลง หลังจากเร่งไปในช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว

 

ภาคบริการท่องเที่ยว กลับมาหดตัว

ทั้งผู้เยี่ยมเยือนคนไทยและต่างชาติ จากที่เร่งไปในเดือนก่อน รวมทั้งการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวและการจัดประชุมสัมมนาภาครัฐที่ลดลงเล็กน้อย สอดคล้องกับผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยาน
และอัตราการเข้าพักแรมที่ลดลงจากเดือนก่อน

 

การบริโภคภาคเอกชน กลับมาหดตัว

ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดบริการที่กลับมาหดตัวหลังเร่งไปในเดือนก่อน ขณะที่การปรับลดราคาขายรถยนต์นั่งประเภทไฮบริด (Hybrid) และรถยนต์ไฟฟ้าในเดือนก่อน ยังช่วยพยุงการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนได้บ้าง ทั้งนี้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคกลุ่มไม่จำเป็น

 

การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวเล็กน้อย

ตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่กลับมาขยายตัวจากยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์และยอดการนำเข้าสินค้าทุน สำหรับการลงทุนด้านการก่อสร้างทรงตัวจากพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างที่หดตัวต่อเนื่องขณะที่ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวต่อเนื่องตามการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร กลับมาขยายตัว

ตามการส่งออกที่ขยายตัว จากการส่งออกทุเรียนสดไปจีน ตามฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตในภาคตะวันออกที่เพิ่มขึ้น และความเข้มงวดที่ลดลงของรัฐบาลจีนในการตรวจสาร Basic Yellow 2
เช่นเดียวกับกานำเข้าที่ขยายตัว จากจีน ในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และจากเวียดนาม ในหมวดโทรศัพท์มือถือเป็นสำคัญ

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ติดลบมากขึ้นจากเดือนก่อน ตามราคาพลังงานและอาหารสดที่ลดลงเป็นสำคัญ

 

ตลาดแรงงาน ปรับดีขึ้น ตามการจ้างงานในภาคเกษตร และการค้าที่ปรับดีขึ้น จากการขยายสาขาของธุรกิจรายใหญ่ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมธุรกิจยังมีแนวโน้มรักษาระดับการจ้างงานใกล้เคียงเดิม และนำระบบงานอัตโนมัติมาใช้ทดแทนแรงงานอย่างต่อเนื่อง

 

ปัจจัยที่ต้องติดตาม

- ผลกระทบของนโยบายการค้าระหว่างประเทศของประเทศคู่ค้า

- สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา

- ทิศทางราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก

- กำลังซื้อของกลุ่มครัวเรือนฐานราก

- มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
30 มิถุนายน 2568

 

หมายเหตุ

สาขาเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่มีความสำคัญต่อภาคอีสาน ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้าผ่านด่านศุลกากร ตามลำดับ

ข้อมูลเพิ่มเติม

ส่วนเศรษฐกิจการเงินภาค สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

043 913 532

Neo-econ-div@bot.or.th