ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
07 พฤษภาคม 2568
แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 1 ปี 2568
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว)
รายได้เกษตรกร กลับมาหดตัว (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน)
จากปัจจัยด้านราคาที่หดตัวต่อเนื่องทั้งราคามันสำปะหลังที่หดตัวตามความต้องการซื้อของประเทศคู่ค้าที่ลดลง และราคาอ้อยที่หดตัว ตามราคาขั้นต้นที่ปรับลดลง ขณะที่ด้านผลผลิตขยายตัวจากผลผลิตอ้อยและข้าวเปลือกนาปรังที่เพิ่มขึ้นจากสภาพภูมิ อากาศที่เอื้ออำนวย
ภาคอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัว
ตามการผลิตแปรรูปสินค้าเกษตร โดยเฉพาะน้ำตาลทราย และยางพาราที่ขยายตัวจากผลผลิตและความต้องการของคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น การผลิตเครื่องดื่มขยายตัวต่อเนื่อง ตามกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องนุ่งห่มหดตัวตามคำสั่งซื้อที่ลดลง
ภาคบริการท่องเที่ยว1 ขยายตัวต่อเนื่อง
จากผู้เยี่ยมเยือนคนไทยที่เพิ่มขึ้น ตามการจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่ เช่น งาน Moto GP งานมาราธอนนานาชาติ และการท่องเที่ยวเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กอปรกับสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยว ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารขาเข้าผ่านท่าอากาศยานและอัตราการเข้าพักแรมเพิ่มขึ้น
การบริโภคภาคเอกชน กลับมาหดตัว
ตามการใช้จ่ายที่เร่งไปในไตรมาสก่อน กำลังซื้อที่ฟื้นตัวช้า และผลของมาตรการเงินโอน10,000 บาท (เฟส 2) ที่น้อยกว่าครั้งก่อน ส่งผลให้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค กึ่งคงทนและคงทนหดตัว ขณะที่หมวดบริการขยายตัวเล็กน้อย ตามการใช้จ่ายของผู้เยี่ยมเยือนคนไทยที่ท่องเที่ยวงานอีเวนท์ขนาดใหญ่ในเมืองหลัก
การลงทุนภาคเอกชน กลับมาหดตัว
ตามการลงทุนด้านการก่อสร้างที่กลับมาหดตัว จากพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้าง ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวตามการเบิกจ่ายงบลงทุนจากภาครัฐที่ลดลงจากไตรมาสก่อน เช่นเดียวกับการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่กลับมาหดตัวในทุกองค์ประกอบ
การค้าผ่านด่านศุลกากร กลับมาขยายตัว
ตามการนำเข้าที่ขยายตัว จาก สปป. ลาว ในหมวดมันสำปะหลัง และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการนำเข้าจากกัมพูชาที่ขยายตัว ในหมวดมันสำปะหลัง
เช่นเดียวกับการส่งออกขยายตัว จากการส่งออกไป สปป. ลาวที่ขยายตัว ในหมวดปิโตรเลียมและหมวดอาหารโดยเฉพาะน้ำตาลทราย เป็นสำคัญ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามราคาอาหารสดเป็นสำคัญ
ตลาดแรงงาน ปรับลดลง ตามการจ้างงานในภาคเกษตร การผลิต และก่อสร้างที่ปรับลดลง อย่างไรก็ดี การจ้างงานในภาคบริการปรับดีขึ้น ตามสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ขยายตัว
แนวโน้มเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาส 2 ปี 2568
คาดว่า ทรงตัว โดยปัจจัยพิเศษ เช่น วันหยุดยาวและเทศกาลสงกรานต์ที่มีขนาดใหญ่และผู้ร่วมงานมากขึ้น ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคและสนับสนุนภาคบริการท่องเที่ยวให้ขยายตัว อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรหดตัวต่อเนื่องจากปัจจัยด้านราคา ช่วยพยุงการบริโภคโดยรวมได้ลดลง
ธนาคารแห่งประเทศไทย
7 พฤษภาคม 2568
หมายเหตุ :
สาขาเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่มีความสำคัญต่อภาคอีสาน ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้าผ่านด่านศุลกากร ตามลำดับ
1 ภาคบริการท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงเครื่องชี้เพื่อให้สะท้อนภาวะมากยิ่งขึ้น