ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
25 มกราคม 2566 ใช้เวลาอ่าน 999 นาที
แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนเมษายน 2565
การอุปโภคบริโภค กลับมาขยายตัว
จากหมวดบริการเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์ ที่สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้น ส่งผลดีต่อการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวัน
การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวชะลอลง
ตามการชะลอตัวของการนำเข้าสินค้าทุน และปัญหาการขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนที่ยังไม่คลี่คลาย ขณะที่การก่อสร้างทรงตัวตามการทยอยก่อสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อชดเชยสต๊อกเดิม
การใช้จ่ายภาครัฐ หดตัว
ตามรายจ่ายประจำของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขณะที่รายจ่ายลงทุนกลับมาขยายตัวจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
การค้าผ่านด่านศุลกากร
การส่งออก หดตัวต่อเนื่อง ตามการส่งออกชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และผลไม้ไปจีนที่ลดลงจากผลกระทบนโยบาย Zero-COVID และการเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งไปทางเรือแทนทางถนนมากขึ้น
การนำเข้า หดตัวต่อเนื่อง ตามการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์จากจีนที่ลดลง จากผลกระทบนโยบาย Zero-COVIDและการเปลี่ยนเส้นทางการขนส่ง
รายได้เกษตรกร ขยายตัวต่อเนื่อง
โดยราคาขยายตัวต่อเนื่อง ตามราคาปศุสัตว์ จากต้นทุนอาหารที่สูง ราคายางพาราจากอุปทานในตลาดโลกที่ลดลง และราคามันสำปะหลังจากความต้องการของจีนที่มีต่อเนื่อง ด้านผลผลิตขยายตัว ตามผลผลิตข้าวนาปรังที่เริ่มออกสู่ตลาด
ภาคอุตสาหกรรม กลับมาหดตัว
ตามการผลิตน้ำตาลทรายและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่เร่งไปในช่วงก่อน การผลิต HDD จากมาตรการล็อกดาวน์ในเมืองสำคัญของจีน รวมทั้งการผลิตเครื่องแต่งกายจากความต้องการในประเทศคู่ค้าที่ลดลง
อัตราเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น ตามราคาพลังงานและอาหารเป็นสำคัญ
การจ้างงาน ปรับดีขึ้น ตามความเชื่อมั่นในการจ้างงาน และตำแหน่งงานเปิดรับใหม่ที่ดีขึ้น สอดคล้องกับจำนวนผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานในระบบ (ม.38) ที่ลดลง
ธนาคารแห่งประเทศไทย
31 พฤษภาคม 2565
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th