ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

25 มกราคม 2566 ใช้เวลาอ่าน 999 นาที

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนตุลาคม 2565

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน
  • ตามการอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวชะลอลง จากผลกระทบของอุทกภัย ค่าครองชีพที่สูง และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่ทยอยหมดลง
  • อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้น รายได้เกษตรที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี ช่วยพยุงการอุปโภคบริโภค สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวเพิ่มขึ้น จากปัญหา supply disruption จากมาตรการ Zero-COVID ในจีนเป็นสำคัญ

การอุปโภคบริโภค ขยายตัวชะลอลง

ตามการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวลงเป็นสำคัญ จากผลกระทบของอุทกภัย ค่าครองชีพที่สูง และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่ทยอยหมดลง

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวน้อยลง

จากการลงทุนด้านก่อสร้างที่หดตัวน้อยลง ตามพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างและปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่เริ่มฟื้นตัว ขณะที่การลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวต่อเนื่อง ตามการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศที่เร่งลงทุนในปีก่อน ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังขยายตัวต่อเนื่อง

 

การใช้จ่ายภาครัฐ ขยายตัว

ตามรายจ่ายประจำ จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและองค์การบริหารส่วนจังหวัด ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัว จากหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของสถาบันอุดมศึกษา เงินอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวงชนบท

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร 

การส่งออก ขยายตัวเล็กน้อย ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อาหารและเครื่องดื่มไปยัง สปป. ลาวเป็นสำคัญ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มฟื้นตัว 

การนำเข้า หดตัวมากขึ้น ตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์จากจีนเป็นสำคัญ เนื่องจากมีการนำเข้าจำนวนมาก เพื่อทำงานที่บ้าน (WFH) ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ในปีก่อน

 

รายได้เกษตรกร ขยายตัวต่อเนื่อง

จากราคาเป็นสำคัญ ตามราคาข้าว มันสำปะหลัง และปศุสัตว์ สำหรับผลผลิตโดยรวมทรงตัว โดยที่ผลผลิตข้าวเปลือกและมันสำปะหลังลดลงเล็กน้อยจากผลกระทบของอุทกภัย ขณะที่ผลผลิตยางพาราขยายตัวเล็กน้อยย

 

ภาคอุตสาหกรรม หดตัวต่อเนื่อง

ตามการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ จากปัญหา supply disruption จากมาตรการ Zero-Covid ในจีนเป็นสำคัญและเครื่องแต่งกายที่กลับมาหดตัวมากขึ้น จากความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ลดลง กอปรกับการผลิตเบียร์ลดลงจากการเร่งผลิตในช่วงก่อนหน้า

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามราคาพลังงานที่ชะลอลง ขณะที่ราคาอาหารสดยังสูงขึ้นต่อเนื่อง

 

การจ้างงาน เพิ่มขึ้น ตามจำนวนผู้มีงานทำ (ม.33) ที่เพิ่มขึ้นและผู้ขอรับสิทธิว่างงาน (ม.38) ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การจ้างงานโดยรวมยังคงเปราะบาง

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
30 พฤศจิกายน 2565

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th