ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
25 มกราคม 2566 ใช้เวลาอ่าน 999 นาที
แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนพฤศจิกายน 2565
การอุปโภคบริโภค กลับมาหดตัว
จากการใช้จ่ายในสินค้ากึ่งคงทน สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าคงทนที่หดตัวจากกำลังซื้อที่ลดลงหลังสิ้นสุดมาตรการภาครัฐ ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังและผลกระทบของอุทกภัยในบางพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นในการบริโภคปรับดีขึ้นและรายได้เกษตรยังขยายตัวต่อเนื่อง
การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง
ตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัวมากขึ้น จากการนำเข้าสินค้าทุน และการลงทุนเครื่องจักรภายในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี การลงทุนด้านก่อสร้างหดตัวน้อยลง ตามปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่กลับมาขยายตัว
การใช้จ่ายภาครัฐ กลับมาหดตัว
ตามรายจ่ายประจำ จากหมวดค่าตอบแทนและหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขณะที่รายจ่ายลงทุนเริ่มขยายตัวจากกรมชลประทานและกรมทางหลวง
การค้าผ่านด่านศุลกากร
การส่งออก ขยายตัวเล็กน้อย ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อาหารและเครื่องดื่มไป สปป. ลาว และการส่งออกชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไปจีนที่เริ่มฟื้นตัวจากสัญญาณการผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID ของจีน
การนำเข้า หดตัวต่อเนื่อง ตามการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากจีนที่หดตัวมากขึ้น จากมาตรการล็อกดาวน์ในเมืองที่เป็นฐานการผลิตสินค้าเทคโนโลยีเป็นสำคัญ
รายได้เกษตรกร ขยายตัวต่อเนื่อง
จากราคาเป็นสำคัญ ตามราคาข้าวเปลือก ปศุสัตว์ และมันสำปะหลัง สำหรับผลผลิตโดยรวมหดตัวเล็กน้อยตามผลผลิตข้าวเปลือกที่ลดลงบ้างจากผลกระทบของอุทกภัย
ภาคอุตสาหกรรม หดตัวต่อเนื่อง
ตามการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงต่อเนื่อง ตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง กอปรกับปัญหา supply disruption ในจีนด้านการขนส่งสินค้าไปยังประเทศปลายทาง เครื่องแต่งกายหดตัวต่อเนื่องจากความต้องการต่างประเทศที่ลดลง น้ำตาลทรายขาวลดลงหลังจากเร่งผลิตในช่วงเดือนก่อน
อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามราคาอาหารสดที่ชะลอลงขณะที่ราคาพลังงานทรงตัว
การจ้างงาน เพิ่มขึ้น ตามจำนวนผู้มีงานทำ (ตามมาตรา 33) ที่เพิ่มขึ้น
ธนาคารแห่งประเทศไทย
29 ธันวาคม 2565
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th