ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

25 มกราคม 2566 ใช้เวลาอ่าน 999 นาที

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2565

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงตัวจากปีก่อน ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการผ่อนคลายล็อกดาวน์ แต่เริ่มแผ่วลงช่วงครึ่งปีหลังจากผลกระทบของค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงและรายได้หลังหักการชำระหนี้ที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวหลังการเร่งลงทุนในปีก่อน และการผลิตเพื่อการส่งออกหดตัวจากปัญหา Supply disruption และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง 

การอุปโภคบริโภค ทรงตัว

ตามการใช้จ่ายสินค้าหมวดบริการ และสินค้าคงทนที่ปรับดีขึ้น ตามมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวประกอบกับปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนยานยนต์คลี่คลายลง ขณะที่ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคกลุ่มสินค้าในชีวิตประจำวัน

 

การลงทุนภาคเอกชน กลับมาหดตัว

ตามการลงทุนด้านก่อสร้างที่กลับมาหดตัวหลังการเร่งลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในปีก่อนขณะที่การลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ขยายตัวชะลอลง จากการลงทุนเครื่องจักรภายใน ประเทศและการนำเข้าสินค้าทุนสอดคล้องกับการผลิตเพื่อการส่งออก

 

การใช้จ่ายภาครัฐ กลับมาหดตัว

ตามรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนที่หดตัวจากเงินงบประมาณที่ได้รับและเงินเบิกจ่ายงบประมาณจาก พ.ร.บ. เงินกู้ปี 2563 และปี 2564 ด้านสาธารณสุขและค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ที่ลดลงหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร 

การส่งออก หดตัว ตามมูลค่าส่งออกผลไม้และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไปจีนที่ลดลงจากผลกระทบนโยบาย Zero-COVID และการเปลี่ยนเส้นทางขนส่งไปทางเรือมากขึ้น

การนำเข้า หดตัว ตามมูลค่าการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ และโทรศัพท์มือถือจากจีนที่ลดลงจากผลกระทบนโยบาย Zero-COVID และการเปลี่ยนเส้นทางขนส่งไปทางเรือมากขึ้น

 

รายได้เกษตรกร กลับมาขยายตัว

ตามราคาข้าวเปลือกที่เพิ่มขึ้น จากผลผลิตข้าวในตลาดโลกที่ลดลง ราคาปศุสัตว์จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และราคามันสำปะหลัง จากความต้องการเพื่อใช้ทดแทนธัญพืชอื่นที่ขาดแคลนสำหรับการผลิตอาหารสัตว์ และผลผลิตขยายตัว ตามผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นจากปริมาณฝนที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต

 

ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว

โดยการผลิตน้ำตาลขยายตัวจากผลผลิตอ้อยเข้าหีบที่เพิ่มขึ้นและสิ่งทอเพิ่มขึ้นตาม คำสั่งซื้อที่มีต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องแต่งกายลดลงตามปัญหา supply disruption และเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว

 

อัตราเงินเฟ้อ สูงขึ้น จากราคาพลังงานและอาหารสดที่เพิ่มขึ้น

 

การจ้างงาน เพิ่มขึ้น จากการจ้างงานในระบบประกันสังคม (ม.33) ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

 

ภาคการเงิน
เงินฝาก ชะลอตัว ตามอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ทยอยปรับขึ้น 

สินเชื่อ ชะลอตัว ตามสินเชื่ออุปโภคบริโภค ขณะที่สินเชื่อธุรกิจหดตัวเล็กน้อย

 

แนวโน้มเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เศรษฐกิจปี 2566 คาดว่า ขยายตัวเล็กน้อยจากปีก่อน ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยกลับสู่ภาวะปกติ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และตลาดแรงงานที่อยู่ในทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่องจะช่วยพยุงการบริโภคภาคเอกชน แม้ยังมีปัจจัยกดดันกำลังซื้อจากค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง การใช้จ่ายของภาครัฐขยายตัวตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรรเพิ่มขึ้น สำหรับการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศขยายตัวเล็กน้อยในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจเประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
9 กุมภาพันธ์ 2566

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th