ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

25 มกราคม 2566 ใช้เวลาอ่าน 999 นาที

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนมกราคม 2566

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขยายตัวจากเดือนก่อน ตามการอุปโภคบริโภคที่กลับมาขยายตัว
  • จากผลของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับการผลิตเพื่อการส่งออกที่ยังหดตัวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
  • อย่างไรก็ตาม ต้นทุนค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในระยะต่อไป 

การอุปโภคบริโภค กลับมาขยายตัวเล็กน้อย

ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้ากึ่งคงทนที่ขยายตัว จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ

ได้แก่ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการช้อปดีมีคืน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ต้นทุนค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยกดดันการบริโภค

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง

ตามการลงทุนด้านการก่อสร้างที่ยังหดตัว จากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง และการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัวมากขึ้น จากการนำเข้าสินค้าทุน ตามการลดลงของภาคการผลิตเพื่อการส่งออกและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวสูงต่อเนื่อง

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร ขยายตัวชะลอลง

การส่งออกชะลอตัว ตามการส่งออกยานยนต์ไป สปป.ลาว ที่หดตัวต่อเนื่องจากกำลังซื้อที่เปราะบาง ประกอบกับการส่งออกไปเวียดนามหดตัวชั่วคราวจากผลของเทศกาลปีใหม่ของเวียดนาม ขณะที่การนำเข้าขยายตัว ตามการนำเข้าโทรศัพท์มือถือจากจีนและเวียดนามเป็นสำคัญ

 

รายได้เกษตรกร ขยายตัวต่อเนื่อง

ทั้งผลผลิตและราคา โดยผลผลิตขยายตัวตามผลผลิตมันสำปะหลัง ยางพารา และอ้อย จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และราคาขยายตัว จากราคามันสำปะหลัง จากความต้องการของคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อใช้ผลิตแอลกอฮอล์และอาหารสัตว์

 

ภาคอุตสาหกรรม หดตัวต่อเนื่อง

ตามการผลิตเพื่อส่งออกที่ลดลง โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ลดลง จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอลงเป็นสำคัญ การผลิตสิ่งทอที่เริ่มหดตัว จากคำสั่งซื้อของตลาดอาเซียนที่ลดลง หลังเร่งผลิตในช่วงก่อน และแป้งมันสำปะหลังลดลงจากผลกระทบของอุทกภัยในบางพื้นที่ ขณะที่น้ำตาลรวมขยายตัวจากปริมาณอ้อยเข้าหีบที่เพิ่มขึ้นและราคาที่ยังจูงใจ

 

การท่องเที่ยว ขยายตัวชะลอลง

หลังสิ้นสุดเทศกาลวันหยุดยาว และกลุ่มประชุม สัมมนาที่ทยอยลดลง กอปรกับนักท่องเที่ยวบางส่วนนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามราคาพลังงานและอาหารสด

 

ตลาดแรงงาน ทรงตัว ตามจำนวนผู้มีงานทำตามมาตรา 33 ที่ใกล้เคียงเดิม  

 

ปัจจัยที่ต้องติดตาม

- ต้นทุนค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง

- การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
28 กุมภาพันธ์ 2566

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th