ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

31 พฤษภาคม 2566

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนเมษายน 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ตามการอุปโภคบริโภคที่หดตัวน้อยลง
    จากการใช้จ่ายในหมวดบริการช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประกอบกับรายได้เกษตรกรกลับมาขยายตัว ช่วยพยุงการบริโภคได้บางส่วน 
  • การลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลงตามการลงทุนก่อสร้างที่ขยายตัว ทั้งพื้นที่ก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง สำหรับการผลิตอุตสาหกรรมหดตัวมากขึ้นจากผลกระทบของเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัวเป็นสำคัญ

การอุปโภคบริโภค หดตัวน้อยลง

จากการใช้จ่ายหมวดบริการขยายตัวตามการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กลับมาจัดกิจกรรมได้เป็นปีแรกหลังจากเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม มาตรการภาครัฐที่น้อยกว่าปีก่อน อาทิ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 และต้นทุนค่าครองชีพที่ทรงตัวในระดับสูงที่ยังกดดันการบริโภค ทำให้การใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้ากึ่งคงทนหดตัว รวมทั้งสินค้าคงทนยังคงหดตัวจากความเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวน้อยลง

จากการลงทุนด้านก่อสร้าง ทั้งพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างที่ขยายตัวตามโครงการที่อยู่อาศัย และยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่ขยายตัว อย่างไรก็ดีการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัว ตามการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลงสอดคล้องกับภาคการผลิตและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวต่อเนื่อง

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร ขยายตัวต่อเนื่อง

การส่งออก ขยายตัวต่อเนื่อง ตามการส่งออกไปจีน ในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะทุเรียนเป็นสำคัญ ในหมวดปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์และยานยนต์ไป สปป.ลาว และเวียดนามตามการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
การนำเข้าขยายตัวต่อเนื่อง ตามการนำเข้าสินค้าจากจีนในทุกหมวดสินค้าจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่จีนมีการปิดประเทศตามมาตรการ Zero-COVID

 

รายได้เกษตรกร กลับมาขยายตัว

จากผลผลิตที่กลับมาขยายตัว ตามผลผลิตข้าวนาปรังและยางพาราที่ได้รับอานิงสงส์จากปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอในปีก่อนช่วยให้เจริญเติบโตได้ดีและผลผลิตข้าวโพดเพิ่มขึ้นตามการเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกจากราคาที่จูงใจ

 

ภาคอุตสาหกรรม หดตัวมากขึ้น

ตามการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัวเป็นสำคัญ ประกอบกับปริมาณสินค้าคงคลังในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ การผลิตแป้งมันสำปะหลังลดลงจากวัตถุดิบที่ลดลงจากผลกระทบของอุทกภัยในช่วงปีก่อน  

 

การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง

จากนักท่องเที่ยวไทยและผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาที่เข้าร่วมงานเทศกาลสงกรานต์ในจังหวัดหลักที่เพิ่มขึ้น ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวต่อเนื่อง

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามราคาอาหารสด ขณะที่หมวดพลังงานเพิ่มขึ้น

 

ตลาดแรงงาน ทรงตัว ตามจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33  และมาตรา 38 ที่ใกล้เคียงเดิม

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
31 พฤษภาคม 2566

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th