ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

31 พฤษภาคม 2566

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนพฤษภาคม 2566

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน 
  • โดยในเดือนก่อน การใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัวตามกำลังซื้อที่แผ่วลงจากมาตรการภาครัฐที่ลดลงและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวมาก
    ตามความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอของประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง
  • ในเดือนนี้ รายได้เกษตรกรและการท่องเที่ยวยังขยายตัวต่อเนื่อง ช่วยให้การอุปโภคบริโภคหดตัวน้อยลง ขณะเดียวกันการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้น ตามการผลิตยางพารา อาหารแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัว
  • แนวโน้มเศรษฐกิจเดือนถัดไป คาดว่า ยังทรงตัวใกล้เคียงเดือนนี้โดยมีรายได้เกษตรกรเป็นปัจจัยสนับสนุนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค

การอุปโภคบริโภค หดตัวน้อยลง

จากการใช้จ่ายหมวดบริการที่ขยายตัว ตามการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นกว่าปีก่อนและการใช้จ่ายในช่วงวันหยุดยาว ขณะที่การใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภคสินค้ากึ่งคงทนหดตัวน้อยลง โดยต้นทุนค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นแรงกดดันกำลังซื้อ สำหรับสินค้าคงทนยังคงหดตัวจากความเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวน้อยลง

จากการลงทุนด้านก่อสร้างที่กลับมาขยายตัว ทั้งพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างตามการเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่เพื่อรองรับความต้องการในระยะต่อไป และยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ดี การลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวตามการนำเข้าสินค้าทุนประเภทอุปกรณ์สำนักงานและยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ สอดคล้องกับภาคการผลิตที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร ขยายตัวชะลอลง

การส่งออก ชะลอลง ตามมูลค่าการส่งออกไปจีน โดยเฉพาะทุเรียนและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เร่งส่งออกมากในเดือนก่อน 
การนำเข้า ขยายตัวต่อเนื่องในทุกหมวดสินค้า และมูลค่าการนำเข้าจากประเทศเวียดนามที่ขยายตัวสูงในหมวดโทรศัพท์มือถือ

 

รายได้เกษตรกร ขยายตัวชะลอลง

ตามราคาที่ขยายตัวชะลอลง โดยราคายางพาราหดตัวจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น และราคาปศุสัตว์หดตัวจากต้นทุนราคาอาหารสัตว์ที่ปรับลง ขณะที่ผลผลิตขยายตัว ตามผลผลิตยางพาราที่เพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอในปีก่อนช่วยให้เจริญเติบโตได้ดีและพื้นที่กรีดยางที่เพิ่มขึ้น 

 

ภาคอุตสาหกรรม หดตัวน้อยลง

ตามการผลิตยางพาราแปรรูปที่ขยายตัวตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น หมวดอาหารแปรรูป เช่น ไก่แช่แข็งขยายตัวตามความต้องการที่ยังมีต่อเนื่อง และแผงวงจรรวมขยายตัวตามความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ดี การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอยังคงหดตัวตามความต้องการของประเทศคู่ค้า ขณะที่การผลิตแป้งมันสำปะหลังหดตัวจากผลกระทบของอุทกภัยในปีก่อน

 

การท่องเที่ยว ขยายตัวชะลอลง

ตามจำนวนนักท่องเที่ยวและรายรับจากการท่องเที่ยวจากการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง โดยเฉพาะกลุ่มประชุมและสัมมนาภาครัฐที่ลดลงตามงบประมาณ อย่างไรก็ดี การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในหัวเมืองหลัก ช่วยกระตุ้นอัตราการเข้าพักให้เพิ่มขึ้น

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามราคาพลังงานและอาหารสด

 

ตลาดแรงงาน ทรงตัว จากจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ใกล้เคียงเดิม

 

ปัจจัยที่ต้องติดตาม

- แนวโน้มรายได้เกษตรกรกับการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน

- การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
30 มิถุนายน 2566

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th