ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

31 ตุลาคม 2566

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนกันยายน 2566

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน
  • โดยในเดือนก่อน การอุปโภคบริโภคโดยรวมลดลง จากค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงและรายได้เกษตรที่หดตัวมากขึ้น แม้มีปัจจัยพิเศษวันหยุดยาว ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว แต่การผลิตเพื่อการส่งออกยังคงหดตัวจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
  • ในเดือนนี้ การอุปโภคบริโภคโดยรวมยังลดลง จากผลของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่น้อยกว่าปีก่อน ค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูงและรายได้เกษตรกรที่ยังหดตัว ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว ตามคำสั่งซื้อสินค้าเกษตรแปรรูปที่เพิ่มขึ้น
  • แนวโน้มเศรษฐกิจเดือนถัดไป คาดว่า ทรงตัวจากเดือนนี้ ตามกำลังซื้อที่ยังเปราะบางและค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน
 

การอุปโภคบริโภค หดตัวต่อเนื่อง

แม้การใช้จ่ายสินค้าบริการขยายตัวจากการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ต้นทุนค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่น้อยกว่าระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งมาตรการคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกัน ส่งผลให้การใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้ากึ่งคงทนหดตัว ประกอบกับความเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่งผลให้สินค้าคงทนหดตัวต่อเนื่อง

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวน้อยลง

ตามการลงทุนด้านก่อสร้างที่ขยายตัวเล็กน้อย จากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง และพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างของโครงการที่อยู่อาศัยที่ทยอยเปิดใหม่ ขณะที่การลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัว ตามการนำเข้าสินค้าทุนประเภทอะไหล่เครื่องจักร สอดคล้องภาคการผลิตเพื่อการส่งออกที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร กลับมาขยายตัว

การส่งออก ขยายตัว ตามทุเรียนสดและชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ไปจีนเป็นสำคัญ 
การนำเข้า ขยายตัว จากเคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และโทรศัพท์มือถือจากจีน มันเส้นจาก สปป.ลาว และกัมพูชาเพื่อชดเชยผลผลิตในประเทศบางส่วนที่เสียหายจากโรคใบด่าง

 

รายได้เกษตรกร หดตัวน้อยลง

จากราคาที่ขยายตัวเป็นสำคัญ ตามราคามันสำปะหลังที่เพิ่มขึ้นหลังมีผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากผลกระทบของโรคใบด่างในบางพื้นที่ ขณะที่ผลผลิตหดตัวตามการชะลอกรีดยางพาราเนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่อง

 

ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่อง

จากการผลิตยางพาราแปรรูปและน้ำตาลทรายขาวที่ขยายตัวตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตเพื่อการส่งออก เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และเครื่องแต่งกายยังหดตัวตามความต้องการของประเทศคู่ค้า

 

การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง (ปรับฤดูกาล)

ตามจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายรับจากนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันในปีก่อน ขณะที่การท่องเที่ยวในเดือนนี้กลับมาหดตัวจากเดือนก่อน ตามเทศกาลวันหยุดยาวที่หมดลง ส่งผลให้อัตราการเข้าพักหลังปรับฤดูกาลลดลงจากเดือนก่อน

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามราคาอาหารสด หมวดเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และราคาพลังงาน

 

ตลาดแรงงาน ปรับดีขึ้น ตามจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ใกล้เคียงเดิม ขณะที่ผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานมาตรา 38 ลดลง

 

ปัจจัยที่ต้องติดตาม

- ผลกระทบของภัยแล้งต่อรายได้เกษตรกร

- การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

- นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
31 ตุลาคม 2566

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th

 

หมายเหตุ

สาขาเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่มีความสำคัญต่อภาคอีสาน ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้าผ่านด่านศุลกากร ตามลำดับ