ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
28 ธันวาคม 2566
แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนพฤศจิกายน 2566
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน
การอุปโภคบริโภค ขยายตัวต่อเนื่อง
ตามการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าบริการที่ขยายตัวตามจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง และผลของฐานต่ำต่อเนื่องในปีก่อนที่เกิดอุทกภัยในบางพื้นที่ ขณะที่สินค้าคงทนยังหดตัวต่อเนื่อง จากความเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินและคุณสมบัติของผู้กู้ที่ด้อยลง
การลงทุนภาคเอกชน หดตัวน้อยลง
ตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ในภาคการผลิตที่ชะลอตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนเป็นสำคัญ และยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การลงทุนด้านก่อสร้างยังขยายตัว ตามพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ
การค้าผ่านด่านศุลกากร กลับมาขยายตัว
การส่งออก หดตัวต่อเนื่อง ตามการส่งออกไปจีน ในหมวดผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน เนื่องจากหมดผลผลิตนอกฤดูกาล และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ รวมถึงการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องดื่มชูกำลังไปเวียดนามที่ลดลง
การนำเข้า ขยายตัวต่อเนื่อง ในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และคอมพิวเตอร์จากจีนเป็นสำคัญ
รายได้เกษตรกร หดตัวต่อเนื่อง
ตามผลผลิตข้าวนาปีที่ลดลง จากฝนที่ตกล่าช้าและไม่กระจายตัว ทำให้ข้าวเจริญเติบโตไม่เต็มที่ และราคาหดตัว จากราคาสุกรที่ลดลงต่อเนื่องเป็นสำคัญตามปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น
ภาคอุตสาหกรรม กลับมาหดตัว
ตามการสีข้าวที่หดตัวจากผลผลิตข้าวที่ลดลงหลังได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง หมวดสิ่งทอที่ยังหดตัวต่อเนื่องตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ยังชะลอตัว และการผลิตแป้งมันสำปะหลังที่หดตัวจากผลกระทบจากโรคใบด่าง ขณะที่การผลิตยางพาราแปรรูปขยายตัวตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น
การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง
ตามจำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ทั้งจากระยะเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อน ตามการจัดงานบุญประเพณีและงานอีเวนต์ต่าง ๆ เช่น งานทอดกฐิน งานลอยกระทง งานวอลเลย์บอลชายหาดชิงแชมป์โลก งานเทศกาลดนตรี เป็นต้น ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางข้ามจังหวัดในภาคอีสานมากขึ้น
อัตราเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น ตามราคาพลังงาน น้ำมันเชื้อเพลิง ราคาอาหารสด เนื้อสัตว์ และผักสด
ตลาดแรงงาน ทรงตัว ตามจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ลดลง ขณะที่ผู้ประกันตนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ มาตรา 40 เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคท่องเที่ยวและบริการ
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
- ผลกระทบของภัยแล้งต่อผลผลิตและรายได้เกษตรกร
- นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล
- การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
ธนาคารแห่งประเทศไทย
28 ธันวาคม 2566
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th
หมายเหตุ :
สาขาเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่มีความสำคัญต่อภาคอีสาน ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้าผ่านด่านศุลกากร ตามลำดับ