ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

31 มกราคม 2567

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนธันวาคม 2566

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขยายตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อน
  • ในเดือนก่อน การอุปโภคบริโภคโดยรวมขยายตัวต่อเนื่อง ตามการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าบริการที่ขยายตัวตามการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวและผลของฐานต่ำต่อเนื่องในปีก่อน ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาหดตัว ตามการผลิตสินค้าเกษตรที่ผลผลิตลดลงหลังได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
  • เดือนนี้ การอุปโภคบริโภคขยายตัว ตามการใช้จ่ายหมวดสินค้าในชีวิตประจำวันช่วงวันหยุดยาว การจัดกิจกรรมช่วงท้ายปีที่มีขนาดใหญ่และจำนวนวันจัดงานมากขึ้น ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้ดี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวในกลุ่มเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับการผลิตเพื่อการส่งออก
  • แนวโน้มเศรษฐกิจเดือนถัดไป คาดว่า ทรงตัวใกล้เคียงเดือนนี้ จากรายได้โดยรวมที่ฟื้นตัวช้า ตามรายได้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ขณะที่มาตรการลดภาระค่าครองชีพ ช่วยพยุงการใช้จ่ายได้บ้าง

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
 

การอุปโภคบริโภค ขยายตัวต่อเนื่อง

ตามการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันและสินค้าบริการที่ขยายตัวในช่วงวันหยุดยาวและผลของมาตรการลดภาระค่าครองชีพ ขณะที่สินค้าหมวดยานยนต์ โดยเฉพาะรถกระบะยังหดตัวต่อเนื่อง จากสถาบันการเงินระมัดระวังการให้สินเชื่อและคุณสมบัติของผู้กู้ที่ด้อยลง และสินค้ากึ่งคงทนที่หดตัวต่อเนื่อง จากความต้องการสินค้าเพื่อทำงานที่บ้านลดลง

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวน้อยลง

ตามการลงทุนด้านก่อสร้างขยายตัวต่อเนื่องในหมวดพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้าง ขณะที่การลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ในภาคการผลิตเพื่อส่งออกในกลุ่มสินค้าทุนหดตัวต่อเนื่องตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ประเภทรถกระบะที่หดตัวต่อเนื่อง

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร ขยายตัวต่อเนื่อง

การส่งออก ขยายตัวเล็กน้อย ในหมวดชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ไปจีน เคมีภัณฑ์ และยานยนต์ไป สปป.ลาว
การนำเข้า ขยายตัวต่อเนื่อง ในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ คอมพิวเตอร์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไปจีน

 

รายได้เกษตรกร หดตัวน้อยลง

ตามราคาที่ขยายตัว จากราคาข้าวที่ขยายตัวตามความต้องการของต่างประเทศ อ้อยตามราคาขั้นต้นที่ปรับสูงขึ้น และมันสำปะหลังตามผลผลิตที่ลดลงจากผลกระทบโรคใบด่าง ขณะที่ผลผลิตยางพาราหดตัว จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดช่วงต้นปีส่งผลต่อการเจริญเติบโตทำให้ปริมาณน้ำยางปลายปีลดลง และอ้อยที่เปิดหีบล่าช้า

 

ภาคอุตสาหกรรม หดตัวต่อเนื่อง

ตามการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอที่หดตัวต่อเนื่อง จากความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ยังชะลอตัว น้ำตาลทรายดิบหดตัวตามผลผลิตอ้อยที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ขณะที่การผลิตยางพาราแปรรูปขยายตัวตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น

 

การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง

ตามจำนวนผู้เยี่ยมเยือนที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากอัตราการเข้าพักแรมที่เพิ่มขึ้นทั้งจากระยะเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อน จากการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวที่มีขนาดงานใหญ่และจำนวนวันจัดงานมากขึ้น โดยเฉพาะวันหยุดยาวในช่วงสิ้นปี อาทิ งาน Amazing Thailand Countdown 2023 ในจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น นครพนม และร้อยเอ็ด

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามราคาหารสด ผักสดน้ำมันเชื้อเพลิง 91 95 และดีเซล

 

ตลาดแรงงาน ปรับดีขึ้น โดยการจ้างงานปรับดีขึ้น ตามจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระภาคการค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับจำนวนผู้ขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานใหม่ ตามมาตรา 38 ที่ลดลง ขณะที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทรงตัว

 

ปัจจัยที่ต้องติดตาม

- การฟื้นตัวของการอุปโภคบริโภคหลังปัจจัยบวกชั่วคราวเรื่องวันหยุดยาวผ่านพ้นไป

- นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล

- การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

- ผลกระทบภัยแล้งต่อผลผลิตและรายได้เกษตรกร

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
31 มกราคม 2567

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th

 

หมายเหตุ

สาขาเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่มีความสำคัญต่อภาคอีสาน ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้าผ่านด่านศุลกากร ตามลำดับ