ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

02 พฤศจิกายน 2566

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาส 3 ปี 2566

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลับมาหดตัวจากไตรมาสก่อนและหดตัวจากระยะเดียวกันในปีก่อน
  • เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลังปรับฤดูกาลแล้ว กลับมาหดตัวจากไตรมาสก่อน แม้มีปัจจัยพิเศษจากวันหยุดยาวหลายช่วงช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย แต่ยังไม่สามารถชดเชยจากกำลังซื้อที่เปราะบาง จากค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูงและรายได้เกษตรที่ลดลง ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
  • เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เศรษฐกิจโดยรวมหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ตามการอุปโภคบริโภคที่หดตัวจากผลของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่น้อยกว่าปีก่อน ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง และรายได้เกษตรกรที่กลับมาหดตัว ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง ตามคำสั่งซื้อสินค้าเกษตรแปรรูปที่เพิ่มขึ้น แต่การผลิตเพื่อการส่งออกยังคงหดตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันในปีก่อน
 

การอุปโภคบริโภค หดตัวต่อเนื่อง

แม้การใช้จ่ายสินค้าบริการขยายตัวจากการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ต้นทุนค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่น้อยกว่าระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งมาตรการคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกันส่งผลให้การใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้ากึ่งคงทนหดตัว ประกอบกับความเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่งผลให้สินค้าคงทนหดตัวต่อเนื่อง

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวน้อยลง

ตามการลงทุนด้านก่อสร้างที่ขยายตัวจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง และพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างของโครงการที่อยู่อาศัยที่ทยอยเปิดใหม่ ขณะที่การลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวตามการนำเข้าสินค้าทุนประเภทอะไหล่เครื่องจักร สอดคล้องภาคการผลิตเพื่อการส่งออกที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวต่อเนื่อง

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร ชะลอลง

การส่งออก ชะลอลง ตามการส่งทุเรียนสดไปจีนที่ชะลอลงหลังเร่งไปในไตรมาสก่อน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่มไปเวียดนามที่ลดลงตามเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว

การนำเข้า ชะลอลง จากจีน สปป.ลาว และเวียดนามในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวตามการนำเข้าเพื่อผลิตส่งออกที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิของประเทศคู่ค้า

 

รายได้เกษตรกร กลับมาหดตัว

จากราคาที่หดตัว ตามราคาปศุสัตว์ที่ลดลงหลังจากเกิดปัญหาลักลอบนำหมูเถื่อนมาจำหน่าย และราคายางพาราที่ลดลงตามราคาตลาดโลก เช่นเดียวกับผลผลิตที่หดตัวจากผลผลิตมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบของโรคใบด่างในบางพื้นที่

 

ภาคอุตสาหกรรม หดตัวน้อยลง

จากการผลิตยางพาราแปรรูปที่ขยายตัวตามคำสั่งซื้อ ขณะที่การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และเครื่องแต่งกายหดตัวต่อเนื่องจากความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว

 

การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง (ปรับฤดูกาล)

ตามจำนวนผู้เยี่ยมเยือนที่ขยายตัวจากระยะเดียวกันในปีก่อนและไตรมาสก่อนจากการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในหลายช่วงของวันหยุดยาว รวมทั้งการจัดกิจกรรมสนับสนุนการท่องเที่ยวที่มากขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น งานอีเว้นต์ งานคอนเสิร์ต และเทศกาล งานบุญประเพณี ช่วยกระตุ้นให้อัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้น

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามราคาอาหารสด หมวดเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และราคาพลังงาน

 

ตลาดแรงงาน ลดลง ตามจำนวนผู้ประกอบอาชีพอิสระ มาตรา 40 ที่ลดลง อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

 

แนวโน้มเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาส 4 ปี 2566

คาดว่าเศรษฐกิจอีสานโดยรวมหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากปัจจัยค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูงรายได้เกษตรกรที่มีแนวโน้มลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ประกอบกับเศรษฐกิจฐานรากยังอ่อนแอ อย่างไรก็ดี ปัจจัยพิเศษจากวันหยุดยาวหลายช่วงและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ทยอยปรับดีขึ้นตามมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ (ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน) จะช่วยพยุงการบริโภค

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
2 พฤศจิกายน 2566

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th

 

หมายเหตุ : 

สาขาเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่มีความสำคัญต่อภาคอีสาน ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้าผ่านด่านศุลกากร ตามลำดับ