ประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเหนือ
(Northern GRP Forecast)
สำนักงานภาคเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย
29 ก.พ. 2567
ประมาณการ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567
ปี 66 ขยายตัว จากผลผลิตเกษตรที่ดีในช่วงครึ่งปีแรก และภาคอุตสาหกรรม ตามความต้องการบริโภคภายในประเทศและการผลิตเพื่อส่งออก เช่นเดียวกับ ภาคการค้าขยายตัวดี ตามการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ในครั้งก่อน จากผลผลิตเกษตร ที่ได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วงจากภาวะเอลนีโญในช่วงครึ่งปีหลัง ประกอบกับการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวชาวจีนฟื้นตัวช้า รวมทั้งภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ จากงบประมาณที่ล่าช้าและความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน
ปี 67 ขยายตัวชะลอลง จากผลผลิตเกษตรหดตัว โดยเฉพาะช่วงครึ่งแรกปีจากภาวะเอลนีโญ และผลผลิตอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกชะลอลง เนื่องจากคู่ค้ามีสินค้าคงคลังในระดับสูงหลังเร่งซื้อไปในปีก่อน อย่างไรก็ดี ผลผลิตเกษตรหดตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้ในครั้งก่อน จากสภาพอากาศที่มีแนวโน้มกลับสู่ปกติในช่วงกลางปี
ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, F = ประมาณการ
1/ ข้อมูลจริงถึงปี 66 ประมาณการโดย ธปท. จากแถลงข่าวผลการประชุม กนง. ครั้งที่ 1/2567
2/ ข้อมูลจริงถึงปี 64 ประมาณการเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยส่วนเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานภาคเหนือ ก.พ. 2567
ตัวเลขในวงเล็บ ( ) แสดงประมาณการรอบ ส.ค. 2566
ทั้งนี้ การศึกษาจัดทำประมาณการจากข้อมูลเบื้องต้น ณ ปัจจุบัน เพื่อเป็นประโยชน์กับธุรกิจและประชาชน และจะมีการทบทวนปรับปรุงประมาณการและเผยแพร่ปีละ 2 ครั้ง
(เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน)
เกษตร ปี 66 ขยายตัว ปี 67 หดตัว
ปี 66 ขยายตัว จากผลผลิตในช่วงครึ่งปีแรกได้รับผลดีจากปริมาณน้ำฝนที่ดีต่อเนื่องตั้งแต่ปีก่อน ทำให้ข้าวนาปรังและอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้น แต่ภาวะเอลนีโญและฝนทิ้งช่วงในช่วงครึ่งปีหลังทำให้ผลผลิตข้าวนาปี มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ถั่วเหลือง ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ประกอบกับผลผลิตลำไยได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศผันผวน และเกษตรกรขาดการดูแลเนื่องจากปีก่อนราคาตกต่ำ
ปี 67 หดตัว จากผลกระทบของภาวะเอลนีโญที่ยังต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ผลผลิตอ้อยโรงงานและข้าวนาปรังหดตัว อย่างไรก็ดี ภาพรวมผลผลิตทั้งปีหดตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้ จากความรุนแรงของภาวะเอลนีโญมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ช่วงกลางปี ทำให้ผลผลิตช่วงครึ่งหลังของปีปรับดีขึ้น โดยเฉพาะข้าวนาปี
อุตสาหกรรม ปี 66 ขยายตัว ปี 67 ขยายตัวชะลอลง
ปี 66 ขยายตัว จากการผลิตสินค้าหมวดอาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์นม ตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวและคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ดีกว่าคาด ประกอบกับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์บางรายเพิ่มการผลิตสินค้าใหม่ อย่างไรก็ตาม การผลิตโดยรวมขยายตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้จากวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่กลับมาช้ากว่าคาด
ปี 67 ขยายตัวชะลอลง จากหมวดอาหารแปรรูปและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้หลังเร่งส่งออกไปแล้วในปีก่อน และการกลับมาของวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ช้ากว่าคาด ส่งผลให้คู่ค้ายังมีสินค้าคงคลังในระดับสูง
การค้า ปี 66 และปี 67 ขยายตัว
ปี 66 ขยายตัว ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีต่อเนื่อง ทำให้การจ้างงานและรายได้นอกภาคเกษตรปรับดีขึ้น รายได้เกษตรกรขยายตัวจากด้านราคา ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมีทิศทางปรับดีขึ้น ภาครัฐมีมาตรการบรรเทาค่าครองชีพช่วยสนับสนุนกำลังซื้อ และมาตรการสนับสนุน EV รวมถึงภาคธุรกิจมีโปรโมชั่นส่งเสริมการขายต่อเนื่อง
ปี 67 ขยายตัว จากการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจ แต่ต่ำกว่าที่ประเมินไว้เล็กน้อยตามผลของฐานที่สูงขึ้นในปีก่อน และแรงส่งจากรายได้ภาคเกษตรคาดว่าชะลอลง ประกอบกับสินค้ากลุ่มยานยนต์มีปัจจัยกดดันจากสถาบันการเงินยังคงระมัดระวังการให้สินเชื่อ
ก่อสร้าง อสังหาฯ ปี 66 หดตัว ปี 67 ขยายตัวเล็กน้อย
ปี 66 หดตัว ส่วนหนึ่งจากโครงการก่อสร้างภาครัฐลดลง ตามงบประมาณลงทุนปี 2567 ที่ล่าช้า ประกอบกับภาคอสังหาริมทรัพย์หดตัวจากสถาบันการเงินเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ
ปี 67 ขยายตัวเล็กน้อย จากกิจกรรมก่อสร้างภาคเอกชนและภาคอสังหาริมทรัพย์มีทิศทางทยอยปรับดีขึ้น ประกอบกับอุปสงค์ของชาวต่างชาติในกิจกรรมเช่าที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างภาครัฐขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ตามงบประมาณที่ล่าช้า
โรงแรม ภัตตาคาร ปี 66 และปี 67 ขยายตัว
ปี 66 ขยายตัว ทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ทั้งเอเชีย ยุโรป และอเมริกาที่ขยายตัวดี อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวชาวจีนต่ำกว่าที่ประเมินไว้ รวมถึงค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวยังคงฟื้นตัวช้าจากแรงกดดันของค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น
ปี 67 ขยายตัว ตามแนวโน้มกิจกรรมในภาคท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น และจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวของหน่วยงานภาครัฐ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีทิศทางขยายตัว และคาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดในช่วงครึ่งหลังของปี
หมายเหตุ :
1) โครงสร้างเศรษฐกิจภาคเหนือ ปี 64 ประกอบด้วย เกษตร 24% อุตสาหกรรม 16% การค้า 13% ก่อสร้างและอสังหาฯ 10% โรงแรมภัตตาคาร 2% และอื่นๆ 36%
2) สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมจากการท่องเที่ยว โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คิดเป็นร้อยละ 9.6 ต่อ GRP ภาคเหนือ
3) กำหนดเผยแพร่ประมาณการผลิตภัณฑ์ภาคเหนือครั้งต่อไป ในเดือนสิงหาคม 2567 (พร้อมประมาณการรายได้ครัวเรือนที่อยู่ระหว่างปรับปรุง)
ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, สำนักงานประกันสังคม, กรมศุลกากร, กรมสรรพสามิต, กรมสรรพากร, กรมการขนส่งทางบก, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, กรมธุรกิจพลังงาน, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กรมท่าอากาศยาน, ท่าอากาศยานไทย, GFMIS, กรมการปกครอง, กรมที่ดิน, The Nielsen Company, ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ คำนวณโดย ธปท.