ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ
28 ธันวาคม 2566
xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ เดือนพฤศจิกายน 2566
รายได้เกษตรกร ขยายตัวชะลอลง จากผลผลิตข้าวนาปีและมันสำปะหลังหดตัว หลังประสบภาวะแล้ง ประกอบกับด้านราคาชะลอลงตามราคาข้าวเปลือกที่ผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงเพราะฐานปีก่อนสูง และราคาสุกรหดตัวตามอุปทานสุกรในตลาดที่มีมากขึ้น
ภาคอุตสาหกรรม หดตัวเล็กน้อย จากหมวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือปรับลดลง หลังเร่งผลิตไปในช่วงก่อนหน้า กลุ่มเฟอร์นิเจอร์หดตัวตามการส่งออกไปสหรัฐฯ และจีน อย่างไรก็ดี หมวดอาหารแปรรูปขยายตัว กลุ่มชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในยานยนต์มีความต้องการต่อเนื่อง ประกอบกับสินค้าส่งออก เช่น เครื่องประดับและเซรามิกปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับช่วงเทศกาลปลายปี
การท่องเที่ยว ขยายตัว จากทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทย สะท้อนจากจำนวนชาวต่างชาติผ่านด่าน ตม. ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานในภาคเหนือ ประกอบกับการจัดกิจกรรมในพื้นที่เพิ่มขึ้น เช่น งานกีฬาสาธิตสามัคคี และประเพณีลอยกระทง เป็นต้น
การอุปโภคบริโภค ขยายตัว ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นในช่วงฤดูท่องเที่ยว ประกอบกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีทิศทางดีต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ส่งผลให้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนเพิ่มขึ้น รวมทั้งหมวดยานยนต์เพิ่มขึ้นในประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นสำคัญ
การลงทุนภาคเอกชน หดตัวน้อยลง จากการลงทุนเพื่อก่อสร้างปรับดีขึ้น โดยหมวดวัสดุก่อสร้างขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างปรับดีขึ้นบ้าง ส่วนการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ทรงตัว โดยการนำเข้าสินค้าทุนทยอยเพิ่มขึ้นจากธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แต่การลงทุนซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์และการลงทุนในเครื่องจักรยังคงหดตัว
การค้าผ่านด่านศุลกากร หดตัวมากขึ้น ตามการส่งออกไปเมียนมาหดตัว จากความไม่สงบบริเวณชายแดน ประกอบกับการส่งออกทุเรียนไปจีนกลับมาหดตัว ด้านการนำเข้าหดตัว ตามการนำเข้ากระแสไฟฟ้าจาก สปป.ลาว อย่างไรก็ดี การนำเข้าผลไม้และผักจากจีนยังขยายตัว ตามความต้องการในประเทศ
อัตราเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น จากราคาหมวดอาหารสดปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดพลังงานลดลง
ตลาดแรงงาน ชะลอลงเล็กน้อย สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ขยายตัวชะลอลง ประกอบกับผู้ขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานตามมาตรา 38 ปรับเพิ่มขึ้น
ปัจจัยที่ตัองติดตาม
- ผลผลิตเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเอลนีโญ
- การฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ
- นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล
- ผลกระทบของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ต่อการส่งออก
ธนาคารแห่งประเทศไทย
28 ธันวาคม 2566
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
โทรศัพท์ : 0 5393 1165
E-mail : RossukoS@bot.or.th