ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ

02 กุมภาพันธ์ 2567

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 4 ปี 2566

 

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคเหนือ ขยายตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน 
  • จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูท่องเที่ยว ทำให้การท่องเที่ยวขยายตัวดี รายได้เกษตรยังขยายตัวได้แม้ชะลอลง และความเชื่อมั่นยังมีทิศทางดี ทำให้การบริโภคขยายตัวเล็กน้อย

รายได้เกษตรกร ขยายตัวชะลอลง จากผลผลิตที่หดตัว ตามการลดลงของข้าวนาปี มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน เนื่องจากในช่วงเพาะปลูกมีปริมาณฝนน้อยกว่าปีก่อน ขณะที่ด้านราคาขยายตัวต่อเนื่อง ตามราคาข้าวและมันสำปะหลังที่มีอุปสงค์จากต่างประเทศต่อเนื่อง ประกอบกับราคาอ้อยโรงงานที่สูงขึ้นตามราคาอ้อยขั้นต้น             

 

ภาคอุตสาหกรรม กลับมาหดตัว จากการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงตามความต้องการในประเทศ การผลิตน้ำตาลหดตัวตามวัตถุดิบ ประกอบกับหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ลดลง และหมวดชิ้นส่วนในยานยนต์ชะลอลงหลังเร่งผลิตและส่งออกไปในช่วงก่อน ด้านหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์ไม้ยังหดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ และเซรามิกขยายตัว จากการผลิตและส่งออกเพื่อรองรับเทศกาลปลายปี

 

การท่องเที่ยว ขยายตัว จากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ เนื่องจากเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว และมีการจัดกิจกรรมในพื้นที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน ผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยาน และชาวต่างชาติผ่านด่าน ตม. เชียงใหม่ ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชาวจีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน  สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักแรมปรับฤดูกาลที่เพิ่มขึ้นจากไ่ตรมาสก่อน

 

การอุปโภคบริโภค ขยายตัวเล็กน้อย จากการใช้จ่ายในหมวดบริการ การใช้น้ำมันและไฟฟ้าขยายตัว ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ในช่วงฤดูท่องเที่ยวและเทศกาล รวมทั้งสินค้ากึ่งคงทนขยายตัวเล็กน้อยในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม การบริโภคสินค้าคงทนลดลงในหมวดรถกระบะและจักรยานยนต์ ตามความต้องการที่ลดลง และสถาบันการเงินระมัดระวังการให้สินเชื่อ และสินค้าอุปโภคบริโภคปรับลดลงเล็กน้อย โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรตามรายได้ที่ชะลอลง

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวน้อยลง ตามการลงทุนเพื่อการก่อสร้าง ทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในกลุ่มที่อยู่อาศัยหดตัวน้อยลง และหมวดวัสดุก่อสร้างปรับดีขึ้น ด้านการลงทุนเพื่อการผลิตหดตัวน้อยลง ตามการนำเข้าสินค้าทุนที่ปรับดีขึ้นเป็นสำคัญ ในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่การลงทุนซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะรถกระบะและการลงทุนในเครื่องจักร ยังลดลงต่อเนื่อง

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร หดตัวมากขึ้น ตามการส่งออกไปเมียนมา จากความไม่สงบบริเวณชายแดน ประกอบกับการส่งออกทุเรียนไปจีนหดตัว ด้านการนำเข้าหดตัว ตามการนำเข้ากระแสไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จากการปิดซ่อมบำรุงประจำปี อย่างไรก็ดี ผลไม้และผักจากจีนขยายตัว ตามความต้องการในประเทศ

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง จากหมวดพลังงานและอาหารสดเป็นสำคัญ ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อย

 

ตลาดแรงงาน การจ้างงานทรงตัว สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทรงตัว หลังเร่งมาต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานตามมาตรา 38 เพิ่มขึ้น

 

 

แนวโน้มไตรมาส 1 ปี 2567 คาดว่าชะลอลงหลังผ่านฤดูท่องเที่ยว รวมทั้งมีความเสี่ยงจากรายได้เกษตรกรบางส่วนอาจได้ผลกระทบจากเอลนีโญ ค่าครองชีพยังอยู่ในระดับสูง และสถานการณ์หมอกควัน เป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของการบริโภค อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวในส่วนของชาวต่างชาติมีโอกาสขยายตัวตามจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น และผลผลิตอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออกคาดว่ากลับมาปรับดีขึ้น ตามความต้องการของคู่ค้าหลังปัญหาสต๊อกสูงคลี่คลาย

 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
2 กุมภาพันธ์ 2567

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
โทรศัพท์ : 0 5393 1166
E-mail : ChanyarT@bot.or.th

 

 

.