ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ

ข่าว ธปท. สภน. ฉบับที่ 14/2567 | 31 ตุลาคม 2567

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ เดือนกันยายน 2567

 

สรุปสาระสำคัญ
  • กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับลดลงจากเดือนก่อน
  • ผลจากอุทกภัยในหลายพื้นที่ การท่องเที่ยวปรับลดลงทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ รายได้เกษตรหดตัวส่วนหนึ่งจากผลผลิตเกษตรได้รับความเสียหาย ด้านผลผลิตอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนปรับลดลง
  • อย่างไรก็ดี การบริโภคกลับมาขยายตัว เป็นผลจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 รวมทั้งการซื้อของกักตุนและบริจาคช่วงอุทกภัย ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง

รายได้เกษตรกร หดตัว จากด้านผลผลิตหดตัว ตามการลดลงของข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทำให้พื้นที่เพาะปลูกบางส่วนได้รับความเสียหาย ด้านราคาหดตัว ตามราคาข้าวเปลือกและลำไย จากผลของฐานสูงในปีก่อน และราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงตามคุณภาพและเข้าสู่ช่วงผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น

 

ภาคอุตสาหกรรม หดตัว จากหมวดเครื่องดื่มที่ปรับลดลงหลังเร่งผลิตไปในไตรมาสก่อน และหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย ทั้งเครื่องนุ่งห่มหดตัวตามการส่งออกไปสหรัฐฯ และญี่ปุ่น และเฟอร์นิเจอร์หดตัวจากการส่งออกไปสหรัฐฯ และจีน อย่างไรก็ดี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับดีขึ้น จากการผลิตเพื่อส่งออกที่รองรับโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ และชิ้นส่วนที่ใช้ในยานยนต์ไฟฟ้ายังขยายตัวดี

 

ภาคบริการท่องเที่ยว หดตัว นักท่องเที่ยวลดลงทั้งชาวไทยและต่างชาติสะท้อนจากจำนวนผู้โดยสารผ่านด่านท่าอากาศยานในภาคเหนือที่ลดลง โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายที่เกิดอุทกภัย สอดคล้องกับการเดินทางโดยรถยนต์มาภาคเหนือ และอัตราการเข้าพักแรมที่ปรับฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน

 

การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว จากหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัว ตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 รวมทั้งการซื้อเพื่อกักตุนและบริจาคในพื้นที่อุทกภัย อย่างไรก็ตาม การบริโภคสินค้าคงทนปรับลดลงต่อเนื่อง จากกำลังซื้อที่ลดลงและการระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อ ประกอบกับการใช้จ่ายหมวดบริการลดลง จากผลของอุทกภัยที่กระทบการท่องเที่ยว

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัว จากการลงทุนเพื่อการผลิต ทั้งยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ประเภทรถกระบะและรถบรรทุกลดลงต่อเนื่อง และการนำเข้าสินค้าทุนลดลง หลังเร่งไปในช่วงก่อน ประกอบกับการลงทุนก่อสร้างหดตัว จากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ตามการชะลอการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ 

 

การค้าชายแดน หดตัว ตามการส่งออกทุเรียนและมังคุดไปจีน และการส่งออกไปเมียนมาหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้า จากความไม่สงบบริเวณชายแดน และเกิดอุทกภัยบริเวณชายแดน ทำให้การขนส่งทำได้จำกัด ด้านการนำเข้าหดตัว ส่วนหนึ่งเนื่องจากผักและผลไม้จากจีนได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในจีน ขณะที่การนำเข้ากระแสไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ยังขยายตัวได้

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพิ่มขึ้น จากเงินเฟ้อพื้นฐานกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น

 

ตลาดแรงงาน ทรงตัวจากเดือนก่อน สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนตาม ม.33 (ปรับฤดูกาล) ที่ใกล้เคียงเดือนก่อน การจ้างงานในพื้นที่ท่องเที่ยวและการค้ายังมีทิศทางดีขณะที่การจ้างงานภาครัฐชะลอลง

 

ประเด็นที่ตัองติดตาม

-  การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคหลังอุทกภัยคลี่คลาย
-  ความผันผวนของสภาพอากาศ
-  ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
31 ตุลาคม 2567

 

info6708

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

0 5393 1166

งานเศรษฐกิจสำนักงานภาคเหนือ