ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ
ข่าว ธปท. สภน. ฉบับที่ 15/2567 | 04 พฤศจิกายน 2567
xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
รายได้เกษตรกร หดตัวเล็กน้อย ด้านราคาหดตัวเล็กน้อย ตามราคาข้าวเปลือกและลำไยจากผลของฐานสูงในปีก่อน ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงตามคุณภาพ และเข้าสู่ช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ทางด้านผลผลิตหดตัวต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทำให้พื้นที่เพาะปลูกบางส่วนของข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้รับความเสียหาย
ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว หมวดอาหารแปรรูปเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์คู่ค้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับดีขึ้นจากการผลิตเพื่อรองรับโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ และชิ้นส่วนในยานยนต์ไฟฟ้ายังขยายตัวดี ด้านหมวดสินค้าฟุ่มเฟือยปรับดีขึ้น ทั้งเซรามิกและเครื่องแต่งกาย ส่งออกไปสหรัฐฯ และญี่ปุ่น แต่หมวดเครื่องดื่มลดลง หลังเร่งผลิตเพื่อสต็อกไปช่วงก่อน
การท่องเที่ยว ขยายตัว ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชาวต่างชาติขยายตัวมากในกลุ่มชาวจีน เพราะเป็นช่วงปิดเทอม สะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่ขยายตัว ขณะที่ชาวไทยลดลงเล็กน้อย ผลจากสถานการณ์อุทกภัยในช่วงปลายไตรมาส อย่างไรก็ดี อัตราการเข้าพักแรมยังขยายตัวได้เล็กน้อย
การอุปโภคบริโภค ทรงตัว โดยการใช้จ่ายหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับการซื้อของบริจาคและกักตุนในช่วงอุทกภัย อย่างไรก็ตาม หมวดยานยนต์ยังลดลงต่อเนื่อง ตามกำลังซื้อที่ลดลงและสถาบันการเงินยังคงระมัดระวังการให้สินเชื่อ ประกอบกับหมวดบริการลดลง ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงในพื้นที่อุทกภัย
การลงทุนภาคเอกชน ทรงตัว โดยการลงทุนเพื่อผลิตขยายตัว ทั้งการนำเข้าสินค้าทุนของธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องดื่ม รวมทั้งยอดจำหน่ายเครื่องจักรเพื่อใช้ทางการเกษตรและอุตสาหกรรม แต่ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนก่อสร้างหดตัว ทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างและยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง
การค้าชายแดน หดตัว ตามการส่งออกไปเมียนมาหดตัว จากความไม่สงบบริเวณชายแดน และเกิดอุทกภัย ทำให้การขนส่งสินค้าทำได้จำกัด อย่างไรก็ดี การส่งออกทุเรียนไปจีนและสินค้าอุปโภคบริโภคไป สปป.ลาว ขยายตัว ด้านการนำเข้าขยายตัว จากการนำเข้ากระแสไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ขณะที่ผลไม้จากจีน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมาลดลง
อัตราเงินเฟ้อ ลดลง จากราคาหมวดพลังงานปรับลดลง
ตลาดแรงงาน เพิ่มขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนตาม ม.33 ปรับฤดูกาล เพิ่มขึ้น ตามการจ้างงานภาครัฐหลังได้รับการจัดสรรงบประมาณ รวมทั้งการจ้างงานในพื้นที่ท่องเที่ยวและการค้าเพิ่มขึ้น
แนวโน้มไตรมาส 4 ปี 2567 คาดว่ามีทิศทางทรงตัว เศรษฐกิจภาคเหนือมีทิศทางปรับดีขึ้น ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูท่องเที่ยว รวมทั้งผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ภาคท่องเที่ยวและการบริโภคขยายตัว ด้านผลผลิตอุตสาหกรรมปรับดีขึ้น ตามความต้องการของคู่ค้าในต่างประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้นและการบริโภคในประเทศ อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรมีทิศทางลดลงจากด้านราคาและผลของอุทกภัย ขณะที่กำลังซื้อยังคงถูกกดดันจากค่าครองชีพ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
4 พฤศจิกายน 2567
.