ประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคใต้
(Southern GRP Forecast)
สำนักงานภาคใต้ ธนาคารแห่งประเทศไทย
17 ส.ค. 2566
ประมาณการรอบครึ่งปี ณ เดือนสิงหาคม 2566
ปี 66 ได้แรงขับเคลื่อนจาก (1) ภาคการท่องเที่ยว ตามเที่ยวบินที่ทยอยฟื้นตัว ส่งผลดีต่อภาคการค้าและการก่อสร้างเอกชน และ (2) ภาคเกษตรกรรม จากผลผลิตที่โน้มขยายตัวดีจากทุเรียนและยางพารา อย่างไรก็ดี การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว จากอุปสงค์โลกที่ชะลอลง
ปี 67 เศรษฐกิจใต้ขยายตัวชะลอลง จากภัยแล้งที่จะกระทบผลผลิตปาล์มน้ำมันมากขึ้น อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวและการค้าคาดว่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวน้อยลง
ทั้งนี้ การศึกษาจัดทำประมาณการจากข้อมูลเบื้องต้น ณ ปัจจุบัน เพื่อเป็นประโยชน์กับธุรกิจและประชาชนและจะมีการทบทวนปรับปรุงประมาณการและเผยแพร่ปีละ 2 ครั้ง
(เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน)
ท่องเที่ยว ปี 66-67 ขยายตัว
จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและชาวไทย โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติหลักที่เข้ามา คือ มาเลเซีย ยุโรป รัสเซีย และอินเดีย ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนทยอยฟื้นตัว แต่ช้ากว่าสัญชาติอื่น สำหรับชาวไทยเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวลดลง
การค้า ปี 66-67 ขยายตัว
จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคบริการท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ส่งผลดีต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน ซึ่งช่วยสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอย อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรที่โน้มลดลงจากราคาในปีนี้ จะกดดันกำลังซื้อของครัวเรือนเกษตรบ้าง
ก่อสร้าง ปี 66 ทรงตัว
สอดคล้องโดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จากจำนวนบ้านเหลือขายที่ลดลงหลังผู้ประกอบการชะลอการลงทุนในช่วงโควิด ประกอบกับกำลังซื้อทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยว ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะหดตัวจากความล่าช้าของ พรบ. งบประมาณ ปี 67
ปี 67 ขยายตัว ตามการลงทุนภาครัฐที่จะกลับมาเบิกจ่ายได้ตามปกติ
เกษตร ปี 66 ผลผลิตขยายตัว
จากทุเรียนตามพื้นที่ให้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และยางพาราจากปริมาณน้ำฝนที่มากในปีก่อน ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น
ปี 67 ผลผลิตชะลอลง จากภัยแล้ง โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ดี ผลของภัยแล้งคาดว่าจะกระทบผลผลิตทุเรียนในวงจำกัด
อุตสาหกรรม ปี 66 หดตัว
จากอุปสงค์โลกที่ชะลอ ประกอบกับปริมาณสินค้าคงคลัง ทั้งยางพาราและถุงมือยางยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ความต้องการสินค้าจากภาคใต้ลดลง อย่างไรก็ดี การผลิตไม้ยางพารายังขยายตัวได้
ปี 67 ปรับดีขึ้นเล็กน้อย ส่วนหนึ่งจากระดับสินค้าคงคลังของคู่ค้าที่คาดว่าจะลดลง
ปี 66 รายได้สุทธิครัวเรือนภาคใต้ปรับดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ส่งผลดีต่อการจ้างงานและรายได้ ประกอบกับรายจ่ายชะลอลง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ลดลง ขณะที่รายได้ครัวเรือนเกษตรลดลง จากราคาสินค้าเกษตรที่ต่ำกว่าปีก่อน
ปี 67 รายได้สุทธิครัวเรือนยังขยายตัวได้ สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตร ทำให้รายได้สุทธิครัวเรือนเกษตรเพิ่มขึ้น
1) F = ประมาณการ
2) ข้อสมมติการประมาณการรายได้และรายจ่ายครัวเรือนในภาคใต้ (2.1) ประมาณการรายได้ต่อครัวเรือนด้วยผลประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจรายสาขาของภาคใต้ ด้วยสมมติฐานปัจจัยอื่น ๆ คงที่ (2.2) ประมาณการค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนด้วยอัตราเงินเฟ้อภาคใต้ ด้วยสมมติฐานปัจจัยอื่น ๆ คงที่
ที่มา: รายงานสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ คำนวณโดย ธปท.