ประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคใต้
(Southern GRP Forecast)
สำนักงานภาคใต้ ธนาคารแห่งประเทศไทย
29 ก.พ. 2567
ประมาณการรอบครึ่งปี ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567
ปี 66 มีแรงขับเคลื่อนจาก (1) ภาคการท่องเที่ยว ส่งผลดีไปยังภาคการค้าและภาคก่อสร้าง (2) ภาคเกษตรกรรม จากผลผลิตทุเรียนที่ขยายตัวเป็นหลัก อย่างไรก็ดี การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว จากอุปสงค์โลกที่ชะลอ
ปี 67 ขยายตัวชะลอลง โดยภาคการท่องเที่ยวขยายตัว ตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการก่อสร้างชะลอลง หลังเร่งไปมากในปีก่อน อย่างไรก็ดี ภาคเกษตรกรรมทรงตัว จากผลผลิตต่อไร่ของยางพาราและปาล์มน้ำมันยังน้อย รวมถึงยังมีความเสี่ยงจากการระบาดของโรคใบร่วงที่จะกระทบผลผลิตยางพารามากขึ้น
ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, F = ประมาณการ
1/ ข้อมูลจริงถึงปี 65 ประมาณการโดย ธปท. จากรายงานนโยบายการเงิน ไตรมาส 4 ปี 2566 โดยไม่รวมผลของ Digital Wallet
2/ ข้อมูลจริงถึงปี 64 ประมาณการเศรษฐกิจภาคใต้ โดยส่วนเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานภาคใต้ ก.พ. 2567 โดยไม่รวมผลของ Digital Wallet
ตัวเลขในวงเล็บ ( ) แสดงประมาณการรอบ ส.ค. 2566
ทั้งนี้ การศึกษาจัดทำประมาณการจากข้อมูลเบื้องต้น ณ ปัจจุบัน เพื่อเป็นประโยชน์กับธุรกิจและประชาชน และจะมีการทบทวนปรับปรุงประมาณการและเผยแพร่ปีละ 2 ครั้ง
(เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน)
โรงแรม ภัตตาคาร ปี 66-67 ขยายตัว
จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทั้งไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะสัญชาติหลัก ได้แก่ มาเลเซีย ยุโรป รัสเซีย และอินเดีย ผลจากเที่ยวบินที่ทยอยเพิ่มขึ้นสู่ระดับปกติ ประกอบกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง ผลดีจากนโยบายยกเว้นการตรวจลงตรา (ไม่ต้องขอวีซ่า) ทั้งนี้ ต้องติดตามความต่อเนื่องของการฟื้นตัวด้านการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
การค้า ปี 66-67 ขยายตัว
ตามแรงสนับสนุนจากการจ้างงานและรายได้แรงงานนอกภาคเกษตร รวมถึงการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่ ตามการขยายตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง ประกอบกับรายได้เกษตรกรปี 67 ที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นบ้างจากด้านราคา แม้ผลดีจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากผลผลิตยางพาราที่ยังมีความเสี่ยงจากการระบาดของโรคใบร่วง อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายหมวดยานยนต์ลดลงกว่าที่เคยประเมินไว้
ก่อสร้าง ปี 66 ทรงตัว ปี 67 ชะลอลง
ปี 66 ขยายตัว ตามการก่อสร้างภาคเอกชนที่เร่งตัว ทั้งที่อยู่อาศัยและธุรกิจโรงแรม จากจำนวนบ้านเหลือขายที่ลดลงและกำลังซื้อที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยว
ปี 67 ชะลอลง ตามการก่อสร้างภาคเอกชนที่ชะลอ หลังเร่งตัวไปในปีก่อน ด้านการลงทุนภาครัฐขยายตัว แต่ต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ จากประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ล่าช้ากว่าคาด
เกษตร ปี 66 ผลผลิตขยายตัว ปี 67 ผลผลิตทรงตัว
ปี 66 ผลผลิตขยายตัว จากผลผลิตทุเรียนที่เพิ่มขึ้นตามพื้นที่ให้ผลผลิต อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของภาวะร้อนแล้งช่วง เม.ย.-พ.ค. 66 ทำให้ผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันลดลง รวมถึงผลกระทบของโรคใบร่วงส่งผลให้ปริมาณน้ำยางลดลง
ปี 67 ผลผลิตทรงตัว จากผลผลิตต่อไร่ของยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งผลผลิตยางพารายังมีความเสี่ยงจากการระบาดของโรคใบร่วง อย่างไรก็ดี ผลกระทบภัยแล้งที่น้อยกว่าคาด ส่งผลให้ปาล์มน้ำมันลดลงไม่มากนัก ด้านผลผลิตทุเรียนยังขยายตัวตามพื้นที่ให้ผลผลิต
อุตสาหกรรม ปี 66 หดตัว ปี 67 ขยายตัวเล็กน้อย
ปี 66 หดตัว ตามคำสั่งซื้อคู่ค้าต่างประเทศที่ชะลอ โดยเฉพาะจีน ประกอบกับปริมาณสินค้าคงคลังของคู่ค้าอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การผลิตเพื่อส่งออกลดลง อย่างไรก็ดี การผลิตไม้ยางพารายังขยายตัวได้
ปี 67 ขยายตัวเล็กน้อย ตามคำสั่งซื้อคู่ค้าต่างประเทศที่ปรับดีขึ้น และปริมาณสินค้าคงคลังทยอยลดลง โดยเฉพาะยางพารา ถุงมือยาง และอาหารทะเลแปรรูป ด้านไม้ยางพาราชะลอเล็กน้อยหลังเร่งไปแล้วในปีก่อน
หมายเหตุ : โครงสร้างเศรษฐกิจภาคใต้ ปี 64 เกษตร (29%) การค้า (12%) อุตสาหกรรม (11%) ก่อสร้าง (4%) โรงแรม ภัตตาคาร (3%) และอื่น ๆ (41%)
ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, สำนักงานประกันสังคม, กรมศุลกากร, กรมสรรพสามิต, กรมสรรพากร, กรมการขนส่งทางบก, กรมธุรกิจพลังงาน, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กรมท่าอากาศยาน, ท่าอากาศยานไทย, GFMIS, กรมการปกครอง, กรมที่ดิน, The Nielsen Company, ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ คำนวณโดย ธปท.