ประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคใต้

(Southern GRP Forecast)

สำนักงานภาคใต้ ธนาคารแห่งประเทศไทย

07 มี.ค. 2568

ประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคใต้ ปี 67-68 

ประมาณการรอบครึ่งปี ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2568

เศรษฐกิจใต้ปี 68 ขยายตัว 2.4 - 3.4% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย จากผลผลิตภาคเกษตรที่กลับมาขยายตัว

ปี 67 ขยายตัวชะลอ จากภาคการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่องที่ยังขยายตัวได้ ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลผลิตเกษตรหดตัว จากสภาพอากาศแปรปรวนและโรคใบร่วงในยางพารา

 

ปี 68 ขยายตัว โดยภาคการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่องยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ ขณะเดียวกันผลผลิตเกษตรกลับมาขยายตัวจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากกว่าปีก่อน รวมถึงอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังมีต่อเนื่อง ทำให้การผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก สำหรับภาคการค้าขยายตัวเล็กน้อย โดยยังมีปัจจัยกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งยังคงส่งผลกระทบต่อการค้าหมวดยานยนต์และความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ เศรษฐกิจภาพรวมขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากภาคการท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาน้อยกว่าคาด

grp

ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, F = ประมาณการ, R = เปลี่ยนแปลงจากการเผยแพร่รอบก่อน
1/ ข้อมูลจริงถึงปี 67 ประมาณการโดย ธปท. จากแถลงข่าวผลการประชุม กนง. ครั้งที่ 6/2567 (ธ.ค.67)
2/ ข้อมูลจริงถึงปี 65 ประมาณการเศรษฐกิจภาคใต้ โดยส่วนเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานภาคใต้ ก.พ.68 ตัวเลขในวงเล็บ ( ) แสดงประมาณการรอบ ก.ย. 67 

ทั้งนี้ การศึกษาจัดทำประมาณการจากข้อมูลเบื้องต้น ณ ปัจจุบัน เพื่อเป็นประโยชน์กับธุรกิจและประชาชนและจะมีการทบทวนปรับปรุงประมาณการและเผยแพร่ปีละ 2 ครั้ง

grp

รายละเอียดทิศทางการเติบโตของกิจกรรมสำคัญ

(เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน)

 

โรงแรม ภัตตาคาร

ปี 67 ขยายตัว ตามอุปสงค์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทย โดยสัญชาติหลักที่เดินทางเข้ามาต่อเนื่อง ได้แก่ มาเลเซีย ยุโรป รัสเซีย และอินเดีย ยกเว้นนักท่องเที่ยวจีนที่ยังฟื้นตัวช้าจากปัจจัยเศรษฐกิจภายในประเทศจีนและความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในไทย

ปี 68 ขยายตัว แม้ชะลอลงบ้างจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทยที่เร่งไปมากในปีก่อน ทั้งนี้ คาดว่านักท่องเที่ยวจีนยังคงทยอยฟื้นตัวตามจำนวนเที่ยวบินที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้จะช้ากว่าที่ประเมินไว้ ประกอบกับหลายพื้นที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อเนื่อง

 

เกษตร

ปี 67 ผลผลิตหดตัว จากทุเรียนและยางพาราเป็นหลัก ผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน ทั้งภาวะแล้งต้นปีและปริมาณน้ำฝนมากช่วงปลายปี รวมถึงการระบาดของโรคใบร่วงในยางพารา

ปี 68 ผลผลิตขยายตัว ในทุกพืชหลัก จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากกว่าปีก่อน โดยเฉพาะทุเรียน ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น รวมถึงพื้นที่ปลูกขยายตัว

 

อุตสาหกรรม

ปี 67 ขยายตัวเล็กน้อย ตามความต้องการไม้ยางพารา อาหารทะเลกระป๋อง และถุงมือยางจากคู่ค้าที่มีต่อเนื่อง รวมถึงได้รับผลดีจากคำสั่งซื้อยาง EUDR ช่วงไตรมาส 3 ปี 67 อย่างไรก็ตาม การผลิตน้ำมันปาล์มดิบลดลงตามวัตถุดิบผลปาล์ม

ปี 68 ขยายตัวเล็กน้อย ปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักที่มีแนวโน้มขยายตัว ประกอบกับสินค้ายางพาราคงคลังในจีนลดลง นอกจากนี้ ผลผลิตเกษตรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การผลิตน้ำมันปาล์มดิบกลับมาขยายตัว อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลักต่อการผลิตและส่งออกภาคใต้

 

การค้า

ปี 67 ทรงตัว จากรายได้แรงงานภาคบริการยังขยายตัว และรายได้เกษตรกรบางส่วนปรับดีขึ้นจากผลด้านราคา รวมถึงมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐช่วยพยุงการใช้จ่ายสินค้าไม่คงทน อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง กดดันให้การใช้จ่ายหมวดยานยนต์หดตัว

ปี 68 ขยายตัวเล็กน้อย โดยยังคงมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และความระมัดระวังการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน อย่างไรก็ดี รายได้ในและนอกภาคเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี รวมถึงผลดีบางส่วนจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ ช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคให้ขยายตัว

 

ก่อสร้าง

ปี 67 ขยายตัวชะลอ ตามการก่อสร้างภาคเอกชน เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอจากกำลังซื้อที่ลดลง อย่างไรก็ดี ยังคงขยายตัวได้ในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก ขณะที่การก่อสร้างภาครัฐหดตัว จากความล่าช้าของการประกาศใช้ พรบ.งบประมาณปี 67

ปี 68 ขยายตัว ตามการก่อสร้างภาครัฐ ที่สามารถเบิกจ่ายได้ตามปกติจาก พรบ.งบประมาณปี 68 รวมถึงมีเม็ดเงินเบิกจ่ายเหลื่อมปีจากปี 67 ขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนคาดว่ายังคงชะลอตามภาวะอสังหาริมทรัพย์


หมายเหตุ : 1) โครงสร้างเศรษฐกิจภาคใต้ ปี 65  เกษตร (27%)  การค้า (11%)  อุตสาหกรรม (11%)  ก่อสร้าง (4%)  โรงแรมภัตตาคาร (8%)  และอื่น ๆ (39%)

2) กำหนดเผยแพร่ประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคใต้ครั้งต่อไป ในเดือนสิงหาคม 2568

ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, สำนักงานประกันสังคม, กรมศุลกากร, กรมสรรพสามิต, กรมสรรพากร, กรมการขนส่งทางบก, กรมธุรกิจพลังงาน, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กรมท่าอากาศยาน, ท่าอากาศยานไทย, GFMIS, กรมการปกครอง, กรมที่ดิน, บจก. นีลเส็นไอคิว (ประเทศไทย), ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ คำนวณโดย ธปท.

ข้อมูลเพิ่มเติม

ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 สำนักงานภาคใต้

โทร. 0 7443 4890

FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th

Tag ที่เกี่ยวข้อง

GRP forecast