ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้

31 พฤษภาคม 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ เดือนเมษายน 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคใต้ เดือนเมษายน 2566 ยังขยายตัวได้
  • แรงส่งจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและตลาดแรงงาน ทำให้การอุปโภคบริโภคยังขยายตัวได้ อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อเกษตรกรลดลง จากราคาสินค้าเกษตรสำคัญ
  • การผลิตและส่งออกหดตัวต่อเนื่อง ผลจากเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว ส่งผลให้การลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ยังคงหดตัว

รายได้เกษตรกร หดตัวมากขึ้น

จากด้านราคาที่หดตัวต่อเนื่องในทุกสินค้าสำคัญ โดยราคายางพาราและกุ้งขาวหดตัวจากความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ลดลง ขณะที่ด้านผลผลิตชะลอลงจากปาล์มน้ำมันเป็นสำคัญ ตามสภาพอากาศที่มีฝนตกน้อยและทิ้งช่วงตั้งแต่ต้นปี 66 ส่งผลให้น้ำหนักทะลายปาล์มลดลง

 

ภาคอุตสาหกรรม หดตัวต่อเนื่อง

จากยางพาราแปรรูป ถุงมือยาง และอาหารกระป๋อง ตามกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ลดลง โดยเฉพาะญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ด้านอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งกลับมาขยายตัวจากการบริโภคภายในจีนที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ขยายตัวต่อเนื่องตามกำลังซื้อจากกลุ่มตะวันออกกลางที่ยังมีอยู่

 

การท่องเที่ยว ยังขยายตัวได้

โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมาเลเซียและจีน สำหรับนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากอานิสงส์วันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประกอบกับได้รับผลดีจากมาตรการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5

 

การอุปโภคบริโภค ยังขยายตัวได้

จากหมวดบริการที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งอานิสงส์โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 เช่นเดียวกับสินค้าอุปโภคบริโภคได้แรงหนุนจากเทศกาลสงกรานต์ อย่างไรก็ตาม หมวดยานยนต์กลับมาหดตัวจากรถยนต์นั่งหลังเร่งส่งมอบไปช่วงก่อน ขณะที่รถกระบะหดตัวตามกำลังซื้อเกษตรกรที่ลดลง

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวมากขึ้น

ตามการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ลดลง สะท้อนจากทั้งการนำเข้าเครื่องจักรการผลิตยางพารา และยอดจดทะเบียนรถบรรทุกส่วนบุคคล ส่วนการลงทุนภาคก่อสร้างขยายตัวใกล้เคียงเดิม ตามพื้นที่อนุญาตก่อสร้างเพื่ออุตสาหกรรม อาทิ โรงไฟฟ้า และประเภทที่อยู่อาศัย

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร หดตัวต่อเนื่อง

การนำเข้าหดตัวต่อเนื่องตามการนำเข้าทุกหมวด ยกเว้นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่นเดียวกับการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับปริมาณการผลิตที่ลดลง ประกอบกับราคาสินค้าส่งออกที่ลดลงตามราคาสินค้าเกษตร

 

อัตราเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นเล้กน้อย จากหมวดพลังงานและอาหารสดเป็นสำคัญ

 

ตลาดแรงงาน ฟื้นตัวใกล้เคียงเดือนก่อน สะท้อนจากตัวเลขการจ้างงาน ( ม.33 ) ที่ปรับดีขึ้นเล็กน้อย โดยขยายตัวจากแรงงานนอกภาคเกษตรเป็นสำคัญ โดยเฉพาะแรงงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
31 พฤษภาคม 2566

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
โทรศัพท์ : 0 7443 4890 
E-mail : FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th