ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้

31 พฤษภาคม 2567

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ เดือนเมษายน 2567

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคใต้ เดือนเมษายน 2567 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน 
  • ตามการท่องเที่ยวที่ขยายตัว ส่งผลดีต่อการอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยกดดันจากกำลังซื้อของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรที่ยังคงเปราะบาง
  • ด้านการผลิตปรับดีขึ้น ตามการผลิตเพื่อใช้ในประเทศและผลิตเพื่อส่งออกตามอุปสงค์คู่ค้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวเล็กน้อย ตามการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการลงทุนด้านการก่อสร้าง

รายได้เกษตรกร ขยายตัว

จากรายได้ยางพารา ตามราคายางที่ยังคงขยายตัว เนื่องจากผลผลิตออกน้อยกว่าปกติจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและฝนสะสมน้อยตั้งแต่ปีก่อน นอกจากนี้ รายได้ปาล์มน้ำมันปรับดีขึ้น จากผลผลิตที่มากกว่าปีก่อน ขณะที่รายได้กุ้งหดตัว

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว

จากการผลิตน้ำมันปาล์มดิบซึ่งมีวัตถุดิบเข้าโรงงานมากขึ้น นอกจากนี้ การผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้และการ restock สินค้าของคู่ค้า ทั้งไม้แปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง และถุงมือยาง สำหรับการผลิตยางพาราแปรรูปขยายตัวเล็กน้อย จากน้ำยางข้นเป็นสำคัญ

 

ภาคบริการท่องเที่ยว ขยายตัว

ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะมาเลเซียหลังสิ้นสุดประเพณีถือศีลอด รวมถึงนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย และอินเดีย ขยายตัวเช่นกัน ด้านนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นจากอานิสงส์วันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์และการจัดกิจกรรมในพื้นที่ที่มีมากกว่าปีก่อน

 

การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว

ตามการใช้จ่ายสินค้าคงทนปรับดีขึ้นบ้าง หลังลดลงมากในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคลดลง โดยเฉพาะหมวดของใช้ภายในบ้าน ตามความระมัดระวังการใช้จ่าย อย่างไรก็ดี หมวดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ สอดคล้องกับการใช้จ่ายหมวดบริการที่เพิ่มขึ้น

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวเล็กน้อย

โดยการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์และมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัว ด้านการลงทุนก่อสร้างหดตัวเล็กน้อย หลังเร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า ตามการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและโรงแรมที่ชะลอลง

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร การส่งออกขยายตัว

การส่งออกขยายตัว ในตลาดมาเลเซียและญี่ปุ่น จากสินค้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ไม้แปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง และยางพาราที่ขยายตัว

การนำเข้าขยายตัว จากสินค้าอุปโภคบริโภคหมวดของใช้และเครื่องสำอาง อาหารอื่น ๆ และสินค้าทุนหมวดมาตรวัด

 

อัตราเงินเฟ้อ ติดลบน้อยลง ตามราคาอาหารสดและพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น

 

ตลาดแรงงาน ทรงตัวจากเดือนก่อน

ตามจำนวนผู้ประกันตน ม.33 ที่ใกล้เคียงเดือนก่อน โดยยังมีแรงส่งต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวที่ดี ทำให้แรงงานในพื้นที่ท่องเที่ยวปรับดีขึ้น ขณะที่พื้นที่อื่น ๆ การจ้างงานเริ่มชะลอลง ทั้งนี้ ภาคธุรกิจยังคงเน้นการจ้างงานแบบรายวัน ด้านความต้องการแรงงานในภาคการค้า โรงแรม ร้านอาหาร ยังมีต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการผลิตมีสัญญาณที่ดี จากตำแหน่งเปิดรับใหม่ที่ปรับเพิ่มขึ้น

 

ประเด็นที่ต้องติดตาม

  • การใช้จ่ายภาครัฐ
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโรคระบาดต่อผลผลิตเกษตร
  • ผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
31 พฤษภาคม 2567

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
โทรศัพท์ : 0 7443 4890 
E-mail : FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th