ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้

29 กันยายน 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ เดือนสิงหาคม 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคใต้ เดือนสิงหาคม 2566 ยังขยายตัวได้
  • ตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและรายได้เกษตรกรที่หดตัวน้อยลง สนับสนุนให้การอุปโภคบริโภคยังขยายตัวได้
  • สำหรับการผลิตอุตสาหกรรมและส่งออกหดตัวต่อเนื่อง ผลจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักชะลอ โดยเฉพาะจีน ส่งผลให้การลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ยังคงหดตัว

รายได้เกษตรกร หดตัวน้อยลง

จากผลผลิตที่ขยายตัว ตามผลผลิตทุเรียนในภาคใต้ตอนล่างที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งได้รับผลกระทบภัยแล้งน้อยกว่าภาคใต้ตอนบน ขณะที่ราคาทุกสินค้ายังคงหดตัว โดยเฉพาะยางพาราและกุ้งขาว เนื่องจากความต้องการของคู่ค้ายังชะลอต่อเนื่อง ด้านราคาทุเรียนหดตัวตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น

 

ภาคอุตสาหกรรม ยังคงหดตัว

ตามการผลิตยางผสมและอาหารทะเลกระป๋องทั้งอาหารสำหรับคนและสัตว์เลี้ยง ประกอบกับการผลิตไม้ยางแปรรูปชะลอตามคำสั่งซื้อของจีน อย่างไรก็ดี การผลิตน้ำมันปาล์มดิบกลับมาขยายตัวตามอัตราการให้น้ำมันที่สูงขึ้น ผลดีจากน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการผลิตอาหารทะเลแช่เย็นฯ โดยเฉพาะกุ้งและปลากลับมาขยายตัว ด้านการผลิตถุงมือยางยังคงขยายตัว

 

การท่องเที่ยว ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว

จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชาวมาเลเซีย ผลจากวันหยุดยาวช่วงปิดภาคเรียน ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวสัญชาติอื่นเพิ่มขึ้นเช่นกัน อาทิ ยุโรป รัสเซีย อินเดีย สำหรับนักท่องเที่ยวไทยขยายตัวใกล้เคียงเดือนก่อน ส่วนหนึ่งจากปัจจัยพิเศษวันหยุดยาว

 

การอุปโภคบริโภค ยังขยายตัวได้

ตามการใช้จ่ายหมวดบริการและสินค้าในชีวิตประจำวัน ส่วนหนึ่งจากรายได้ภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และรายได้จากทุเรียนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หมวดยานยนต์กลับมาหดตัวโดยเฉพาะจักรยานยนต์หลังเร่งไปเดือนก่อน ขณะที่รถกระบะหดตัวต่อเนื่อง ตามกำลังซื้อครัวเรือนเกษตรกรที่อ่อนแอ

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวเล็กน้อย

ตามการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ ผลจากการผลิตอุตสาหกรรมที่ชะลอลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางพารา เช่นเดียวกับยอดจดทะเบียนยานยนต์เชิงพาณิชย์ และมูลค่าการจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศที่ลดลง อย่างไรก็ดี การลงทุนก่อสร้างขยายตัว โดยเฉพาะโรงแรม 

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร หดตัวน้อยลง

การส่งออกหดตัวน้อยลง ตามการส่งออกยางแท่ง น้ำยางข้น และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ที่หดตัวน้อยลง ด้านการนำเข้าหดตัวน้อยลง ตามสินค้าทุนประเภทเครื่องจักร และวัตถุดิบขั้นกลาง เช่น เคมีภัณฑ์ วงจรไฟฟ้า ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบปลากลับมาหดตัว

 

อัตราเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น จากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ

 

ตลาดแรงงาน ทรงตัวใกล้เคียงเดือนก่อน สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่ใกล้เคียงเดือนก่อน เช่นเดียวกับจำนวนผู้ประกอบอาชีพอิสระ มาตรา 40 ขณะที่ผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ว่างงานลดลงจากเดือนก่อน

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
29 กันยายน 2566

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
โทรศัพท์ : 0 7443 4890 
E-mail : FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th