ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้

30 กันยายน 2567

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ เดือนสิงหาคม 2567

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคใต้ เดือนสิงหาคม 2567 ชะลอจากเดือนก่อน 
  • ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชะลอชั่วคราวในเดือนนี้ สำหรับการบริโภคภาคเอกชนหดตัว ตามการใช้จ่ายสินค้าคงทนด้านการผลิตอุตสาหกรรมหดตัวตามการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ 
  • ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกปรับดีขึ้นตามคำสั่งซื้อคู่ค้า สำหรับการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมขยายตัวเล็กน้อย

รายได้เกษตรกร ขยายตัว

จากรายได้ยางพาราและกุ้งที่ขยายตัวมากขึ้นจากด้านราคา เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยจากสภาพอากาศแปรปรวน ขณะที่รายได้ปาล์มน้ำมันและทุเรียนชะลอ โดยผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลงจากผลกระทบภาวะแล้งช่วงต้นปี ขณะที่ราคาทุเรียนลดลงจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและการแข่งขันในจีนมากขึ้น

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัว

โดยการผลิตน้ำมันปาล์มดิบลดลงตามผลผลิตที่ลดลง ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกปรับดีขึ้นตามคำสั่งซื้อคู่ค้า อาทิ การผลิตยางพาราแปรรูปขยายตัวส่วนหนึ่งจากคำสั่งซื้อยาง EUDR ในตลาดยุโรปเพิ่มขึ้น สำหรับคำสั่งซื้อจีนยังชะลอ โดยเฉพาะยางผสม และไม้ยางพาราแปรรูป

 

ภาคบริการท่องเที่ยว หดตัว

ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทยที่ปรับลดลง หลังเร่งไปมากในเดือนก่อนที่มีวันหยุดยาว โดยเฉพาะชาวมาเลเซียซึ่งบางส่วนชะลอเพื่อรอเข้ามาในเดือนกันยายนซึ่งเป็นช่วงปิดภาคเรียน สำหรับสัญชาติอื่น ยังขยายตัว

 

การบริโภคภาคเอกชน หดตัว

ตามการใช้จ่ายสินค้าคงทนที่หดตัวต่อเนื่อง แม้ยอดขายรถจักรยานยนต์ในพื้นที่เกษตรที่ปลูกยางพาราปรับดีขึ้นบ้าง สำหรับการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคใกล้เคียงเดิม สะท้อนกำลังซื้อครัวเรือนที่ยังเปราะบางจากความกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือน สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลง

 

การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวเล็กน้อย

ตามการลงทุนด้านก่อสร้าง สะท้อนจากพื้นที่อนุญาตก่อสร้างและยอดจำหน่ายปูนซิเมนต์ที่เพิ่มขึ้น ด้านการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ขยายตัวเล็กน้อย ตามการนำเข้าสินค้าทุนในธุรกิจอื่นเพิ่มขึ้น ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนในธุรกิจการผลิตหลักลดลง หลังนำเข้าไปแล้วในช่วงก่อน

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร หดตัว

การส่งออกหดตัว จากน้ำยางข้นไปมาเลเซีย และน้ำมันปาล์มไปอินเดีย ตามวัตถุดิบที่ลดลง รวมถึงการส่งออกไม้ยางพาราแปรรูปที่ลดลงจากอุปสงค์จีนชะลอตัว

การนำเข้าหดตัว ตามเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมถึงการนำเข้าวัตถุดิบปลาเพื่อผลิตปลากระป๋องและคอมพิวเตอร์ลดลง

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่หมวดอาหารสดเพิ่มขึ้น

 

ตลาดแรงงาน ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตน ม.33 ที่เพิ่มขึ้น ตามการจ้างงานสาขาบริการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในภูเก็ต และกระบี่ เพื่อรองรับ High season ประกอบกับการจ้างงานภาคผลิตอาหารกระป๋องปรับดีขึ้น โดยเฉพาะใน จ.สงขลา อย่างไรก็ตาม การจ้างงานในภาครัฐชะลอลงหลังเร่งไปช่วงก่อนหน้า

 

ประเด็นที่ต้องติดตาม

•มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

•การเข้ามาของกรุ๊ปทัวร์จีน

•ผลกระทบของสภาพอากาศต่อผลผลิตเกษตร

•ผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ต่อการส่งออกและเงินเฟ้อ

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
30 กันยายน 2567

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
โทรศัพท์ : 0 7443 4890 
E-mail : FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th